‘เราจะโตอย่างก้าวกระโดด’ หลังจัดระเบียบไอยูยูสำเร็จ

10 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
นับจากที่ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบเหลืองเตือน กรณีมีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) เมื่อ 21 เมษายน 2558 ซึ่งนับจากนั้นมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ แต่ปรากฏผลหลังครบกำหนด 6 เดือนในเดือนตุลาคม 2558 อียูยังคงต่อใบเหลืองและให้เวลาไทยในการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ขณะที่ล่าสุดอียูได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาของไทยระหว่างวันที่ 18-23 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีประกาศผลจากอียูอย่างเป็นทางการว่าจะปลดใบเหลืองไทยหรือไม่

 ต่อไม่ต่อต้องทำเต็มที่

"พจน์ อร่ามวัฒนานนท์" รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ไม่ว่าอียูจะประกาศต่อหรือไม่ต่อใบเหลืองไทย แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้คือปลดใบเหลืองของอียูในที่สุด

"สิ่งที่เราทำ ทั้งรัฐบาลกับเอกชนตั้งแต่รับใบเหลืองมา เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและจริงจัง ก็หวังว่าอียูจะเห็นความตั้งใจจริงของเรา และรีบให้เราออกจากใบเหลือง"

 ประมงไทยถึงจุดเปลี่ยน

สำหรับอุตสาหกรรมประมงของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีมามายาวนาน อย่างเช่นเรือประมงก็มากกว่า 100 ปี ธุรกิจการประมงหรือการแปรรูปทั้งหลาย เช่น อาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมก็ตั้งมากว่า 50 ปีแล้ว แต่อาหารแช่เยือกแข็งก็มีมาก่อนสมาคมเกิดอีกคิดแล้วร่วม 80 ปี อุตสาหกรรมทูน่าก็ประมาณกว่า 40 ปี ปลาป่นก็มีมานานพอควร อาหารสำเร็จรูปจากอาหารทะเลก็ประมาณ 40 ปีเช่นกัน เพราะฉะนั้นวันนี้อุตสาหกรรมนี้อยู่มานานมากแล้ว และก็อยู่กันแบบอิสระ ไม่ได้มีการควบคุมดูแลกันอย่างจริงจังทำให้ทรัพยากรในทะเลเราเหือดหายไปมากจริงๆ

"ส่วนปัญหาที่มาซ้ำคือเรื่องแรงงานทางการประมงที่มีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และมีการค้ามนุษย์เกิดขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นเวลานี้ถือเป็นประเด็นร้อนของโลก เมื่อรวมกับปัญหาเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล ประเทศไทยจึงถูกต่างประเทศเฝ้ามอง และอยากให้แก้ไข ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ และถือว่าโชคดีที่อยู่ในช่วงของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปทุกด้านเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง"

 ผลกระทบไอยูยู 2 ด้าน

"พจน์" กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาผลกระทบเรื่องไอยูยูต่อเรือประมงจับปลา และต่ออุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลมีมากน้อยเพียงใดนั้น คำตอบต้องแยกเป็น 2 ประเด็น โดยในแง่ของการแปรรูปทั้งหมด จริง ๆ แล้วสมาชิกหรือพวกโรงงานที่ทำการแปรรูปทั้งหลาย ไม่ว่าอาหารแช่เยือกแข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปรับทราบปัญหาเหล่านี้มานานแล้วโดยเฉพาะเรื่องแรงงาน และเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ และโรงงานแปรรูปโดยเฉพาะอาหารแช่เยือกแข็ง อาหารสำเร็จรูป และทูน่า ได้ทำเรื่องเหล่านี้ในส่วนของโรงงานเสร็จเรียบร้อยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาในส่วนของห่วงโซ่การผลิตบางอย่าง เช่นอาหารแช่เยือกแข็งในส่วนของกุ้งมีปัญหาในส่วนของล้ง(สถานแปรรูปเบื้องต้น) ซึ่งสมาคมฯเองก็พยายามที่จะจัดการมา 3 ปีแต่ก็ยังไม่เรียบร้อย กระทั่งมารอบนี้ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดถึงหยุดการใช้ล้งไปเลยในเรื่องกุ้ง ซึ่งก็มีผลกระทบพอสมควร ในแง่ของการจัดการเรื่องของวัตถุดิบ

สำหรับผลกระทบอีกด้านคือ ปัญหาในส่วนของเรือประมงที่มีการจัดระเบียบทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในระยะสั้น ประจวบเหมาะกับกุ้งเองก็มีปัญหาโรคตายด่วน(EMS) ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว เลยทำให้โรงงานมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบพอควร แต่ถ้าในองค์รวมก็มีปัญหาอีกอย่างคือการจัดการที่อยากให้เป็นไปตามระเบียบของไอยูยู ของสหภาพยุโรปที่เราพยายามทำยอมรับว่ามันเป็นกฎระเบียบค่อนข้างที่จะเข้มงวดมาก และมีผลกระทบต่อการดำเนินงานพอควร และต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควรเช่นกัน รวมถึงการปรับตัวของหน่วยงานราชการด้วย อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า อย่างไรก็ดีงานนี้เชื่อว่าคงจะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ โดยคาดจะสำเร็จภายใน 1 ปีนับจากนี้

 รับยังกังวลรัฐจัดระเบียบ

อย่างไรก็ดีหากถามว่ายังมีความรู้สึกกังวลใจหรือไม่อย่างไรกับการจัดระเบียบของรัฐบาลในทุกด้านทั้งเรื่องประมง และแรงงานเพื่อปลดใบเหลืองอียู"พจน์"ยอมรับว่า พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ.2558 ที่ออกมาใหม่(มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 พ.ย.2558) เป็น พ.ร.ก.ที่ครอบคลุมทั้งในเชิงกว้าง ยาว และลึกมาก ซึ่งถ้ากฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงที่ออกมาแล้ว และกำลังจะออกมา(รวม 35 ฉบับ) ไม่ละเอียดพอหรือไม่ครอบคลุมในสิ่งที่เป็นจริง และปฏิบัติไม่ได้กับสังคมบ้านเราก็คงจะเหนื่อยพอสมควร ดังนั้นกฎหมายลูกและประกาศกระทรวงที่ออกมาคงต้องชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้จริง

 ระบุยังเป็นปีที่เหนื่อย

"พจน์" ระบุว่า ปีนี้จะยังเป็นปีที่เหนื่อยของอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็ง เนื่องจากว่าปัญหาวัตถุดิบอาหารจากทะเลยังเป็นปัญหาที่รุนแรง แต่ในส่วนของกุ้งจากการเลี้ยงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นคาดปีนี้ผลผลิตจะขยับขึ้นเป็น 3 แสนตัน ขณะเดียวกันสินค้าจากเรือประมงเอง เรายังไม่สามารถเข้าไปจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซียได้ เพราะอินโดฯ อยู่ระหว่างการจัดระเบียบประมงใหม่ ทำให้วัตถุดิบหายไปส่วนหนึ่ง ขณะที่การจัดระเบียบเรือของไทยต้องยอมรับ ว่าต้องใช้เวลากว่าจะให้ทุกอย่างเข้าระเบียบ

"ขณะเดียวกันกฎเกณฑ์ของไอยูยู ตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมีกฎเกณฑ์เยอะมากเหลือเกิน ดังนั้นเชื่อว่าปีนี้เป็นปีสำคัญในการปรับตัว ในแง่ของอาหารแช่เยือกแข็ง และทูน่าทั้งหลายต้องพยายามประคองไม่ให้เลวลงไปกว่าเดิม แต่ก็มั่นใจว่าหลังจากพ้นตรงนี้ไปแล้ว เราจะโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเราจะเป็นประเทศเดียวในหมู่ของประเทศคู่แข่งที่สามารถจัดระเบียบได้เรียบร้อยหมด ทั้งเรื่องไอยูยู และเรื่องแรงงาน เรียบร้อยแบบสมบูรณ์แบบ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559