ชงแผนขับเคลื่อนอีอีซีเข้าบอร์ด 10 ส.ค.นี้

01 ส.ค. 2561 | 13:18 น.
“คณิศ” เผยเตรียมชงบอร์ดอีอีซี ไฟเขียวแผนพัฒนาภาครวมอีอีซี 10 ส.ค.นี้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำผังเมืองรวม 3 จังหวัด พร้อมตั้งทีมประสานงานร่วมประชารัฐ ดึงภาคเอกชนทำหน้าที่ประสานการลงทุนเอกชนในประเทศและต่างประเทศ แก้อุปสรรคกรณีที่เป็นโครงการซับซ้อนต้องการผู้ร่วมทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จะเสนอร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ที่ประชุมเห็นชอบ 6 แนวทาง ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และศูนย์กลางการเงิน

kanit1

ทั้งนี้ เพื่อนำแผนดังกล่าวไปจัดทำรายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือผังเมืองรวมใน 3 จังหวัดอีอีซี โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมจัดทำรายละเอียดขึ้นมา คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากที่ประชุมเห็นชอบ และหลังจากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ไปดำเนินการจัดทำผังเมือง แต่ละจังหวัดขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว

นอกจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบตั้งทีมประสานงานร่วมประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้แทนเอกชนไทยและผู้เชี่ยวชาญ โดยมีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธานอนุกรรมการประธานการลงทุนในเขตอีอีซี เพื่อทำหน้าที่ ประสานการลงทุนเอกชนในประเทศและต่างประเทศในพื้นที่อีอีซี ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตรงกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงศึกษาและจัดทำข้อเสนอรายละเอียดของโครงการลงทุนเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานและคณะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประสานการลงทุนในอีอีซี 6 กลุ่ม ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเทคโนชีวภาพ/แปรรูปอาหาร/ไบโออีโคโนมี มีนายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่มีนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มอิเล็กโทรนิกส์อัจฉริยะ/หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ/ดิจิทัล มีนายสมประสงค์ บุญยะชัย เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มการบินและโลจิสติกส์ มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นประธานกลุ่ม และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มีนายกลินท์ สารสิน เป็นประธานกลุ่ม

ทั้งนี้ กรรมการแต่ละกลุ่ม จะถูกคัดเลือกจากภาคเอกชนที่มีความรู้ในกลุ่มธุรกิจ รวมถึงใช้ที่ปรึกษาจากบริษัทชั้นนำ เพื่อเชื่อมต่อกับบริษัทชั้นนำเพื่อชักจูงมาลงทุนในอีอีซี

eec

“การตั้งทีมประสานงานร่วมประชารัฐ เป็นข้อเสนอจากภาคเอกชน เพื่อมาแก้อุปสรรคกรณีที่เป็นโครงการซับซ้อนต้องการผู้ร่วมทุน หรือต้องการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน มากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้ หรือเป็นกรณีบริษัทสำคัญที่รัฐบาลไปดึงมาลงทุน”

นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้า 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินอู่ตะเภา ) กำหนดได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนกันยายน 2561 ที่ขณะนี้มีเอกชนสนใจเข้าซื้อซองร่างขอบเขตการประมูล หรือ TOR จำนวน 31 ราย คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดดำเนินการภายในปี 2566

2. โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา คาดออก TOR ภายในเดือนตุลาคม 2561 และกำหนดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน จะออก TOR ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 คาดจะออกTOR ได้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ กำหนดเสร็จปี 2567 และ 5. ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะออก TOR ได้ในเดือนกันยายนปีนี้ กำหนดเสร็จปี 2568

kob1

นอกจากนี้ในแผนการพัฒนาในระยะ 5 ปีแรก จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตนวัตกรรมเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตัล EECd และจะต้องมีการพัฒนาบุคลากร และการศึกษา เพื่อรองรับแนวทางการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูง ที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร จึงถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ประกอบกับรัฐบาลผลักดันโครงการที่สำคัญต่างๆ ออกมา ได้ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก อีกทั้ง การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และออกมาตรการใหม่ๆ รวมถึงการปรับกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และ ยังได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์พิเศษของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่จะเอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในอนาคต ดังนั้นอีอีซีจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง และไทยจะเป็นประตูทางการค้าสู่เอเชีย (Gate way )

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ดังนั้น โครงการอีอีซีนอกจากจะส่งผล โดยรวมต่อประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลต่อการเชื่อมโยงการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอ ได้วางมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าปกติของการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นให้สิทธิประโยชน์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic 2 Corridor of Innovation หรือ EECI) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้ และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี)

e-book-1-503x62-7