ทางออกนอกตำรา : ‘ลุงตู่’ ปฏิวัติระบบกู้ยืม ไชโย! ‘ต้นไม้’ทำเงิน

01 ส.ค. 2561 | 14:33 น.
 

5665659 ช่วยกันปรบมือดังๆ สิครับพี่น้องไทย....กันยายนนี้เกิดขึ้นแน่

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเรื่องเซอร์ไพรส์ให้คนไทยทั้งชาติได้ชุ่มชื่นในหัวใจ กระผมก็อีหรอบนี้แหละครับ..แต่เรื่องอื่นขอติ ชม ก่นด่ากันต่อไปนะครับ

เรื่องของเรื่องคือ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.อุบลราชธานี มีมติเห็นชอบตามที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ ได้เสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.... เพื่อผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อการออมและการสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจ

สาระหลัก ไม่มีอะไรมาก แค่เปิดทางให้นำต้นไม้ที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ หรือการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ โดยให้นำต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 58 ชนิด เช่น ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลยาง มะขามป้อม ไม้สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา  นางพญาเสือโคร่ง ไม้สกุลจำปี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ หว้า จามจุรี กฤษณา ไม้หอม และไผ่ทุกชนิด มาเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้

ขณะเดียวกันก็ร้องขอให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนเรื่องการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจอย่างเต็มที่

นี่คือการฉีกวิธีปฏิบัติของระบบการกู้ยืมเงินของประเทศออกไปโดยสิ้นเชิง

ที่สำคัญกว่านั้นทำให้มนุษย์กับป่าไม้ ต้นไม้ กลับมาผูกสัมพันธ์กันได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
43100739_0_20130128-204522 การเพิ่มเติมในเรื่องหลักประกันการกู้ยืมนั้นเคยมีมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่เคยมีการดึงเอา “ทรัพยากรธรรมชาติ” มาใช้ กล่าวคือเดิมทีในมาตรา 8 (6) ของพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ 2 ก.ค. 59 กำหนดทรัพย์สินเพิ่มเติมมา 6 ชนิดให้เป็นหลักประกันได้เช่น กิจการ, สิทธิเรียกร้อง เช่น สินค้าคงคลัง-เครื่องจักร, บัญชีเงินฝาก, อสังหาริมทรัพย์, ทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพย์สินอื่นๆ

แต่พอทางปฏิบัตินั้นปรากฏว่า ในหลักประกัน  6 ชนิดตามพ.ร.บ.ฯนี้ ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกันเพียง สิทธิเรียกร้อง,บัญชีเงินฝาก,ทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนที่เหลือธนาคารไม่รับเป็นหลักประกัน ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ต้องการให้เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสามารถมีหลักทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันได้เพิ่มขึ้น

ผมถึงบอกว่า นี่คือการปฏิวัติการกู้ยืมเงินของรัฐบาลลุงตู่ ที่หาญกล้าและสร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้

เพราะอะไรครับ เพราะประเทศเรากลายเป็นเขาหัวโล้นไปหมดแล้วครับ ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม โดยกรมป่าไม้ พบว่า มีพื้นที่ป่าไม้  31.58% ของพื้นที่ หรือเท่ากับ 102,174,805.09 ไร่ (164,479 ตารางกิโลเมตร) ลดลงจากปี 2558 ประมาณ 65,000 ไร่ และจากสถิติพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557-2560 ลดลงทุกปี มาตรการนี้จึงเชื่อว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้นมาไม่น้อยกว่า 20-30 ล้านไร่ และถ้าชาวบ้านปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น ความชุ่มชื้น สดใส ปอดของเมืองจะมากขึ้น
800_21 นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือ เป็นทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ เป็นหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้คนและชุมชน สามารถรักษาที่ดินทำกิน ป้องกันการขายที่ดิน ไม่เคลื่อนย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง แย่งชิงทรัพยากรสังคมเมืองหรือจากชุมชนสู่ป่า บุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของส่วนรวม

ในทางการเมืองนั้นมีการพูดกันบ่อยว่า “นักการเมือง” มองเห็นแค่ประโยชน์โภชน์ผลเพียงข้างหน้า และเห็นเพียงโอกาสในการงาน แต่ไม่เคยสร้างอะไรให้เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ “รัฐบุรุษ” คือผู้สร้างคุณประโยชน์โภชน์ผลให้เกิดขึ้นอย่างยาวนานแก่บ้านเมือง ประเทศชาติ และประชาชน

คงไม่มากเกินไปถ้าผมจะบอกว่า คนที่ทำเรื่องแบบนี้ให้เกิดขึ้นเขาคือ “วีรบุรุษทางการเมืองของประเทศ” ที่เราต้องช่วยกันสนับสนุน

เพียงแต่มีข้อแม้ว่า “ต้องทำให้เกิดการปฏิบัติได้จริง” อย่าทิ้งทุ่นไว้เพียงแค่หลักการที่ดีแต่รูปธรรมไม่บังเกิด

หลายคนสงสัยว่ารูปแบบของการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจนั้นจะปล่อยกู้อย่างไร

ผมมีโอกาสคุยกับผู้บริหารของ ธ.ก.ส.ได้ข้อมูลเบื้องต้นเรื่องการปล่อยสินเชื่อโดยใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันแล้ว พบว่าจะปล่อยกู้ให้เท่ากับที่ดินที่ปล่อยกู้ให้ 50-70% ของหลักประกัน เงินฝากปล่อยกู้ให้ 90% ของหลักประกัน ในส่วนของต้นไม้นั้นมีการวางกรอบว่า น่าจะปล่อยกู้ให้ 50% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน เพราะสามารถให้ประโยชน์กับชุมชนได้

เพียงแต่ราคาต้นไม้อาจแตกต่างกันไปตามอายุ เนื้อไม้ เช่น ไม้โตเร็วลูกบาศก์เมตรละ 2,500-3,000 บาท กลุ่มไม้มะฮอกกานี พะยอม ยาง อาจจะลูกบาศก์เมตรละ 5,000-8,000 บาท กลุ่มไม้เนื้อแข็ง เช่นพะยูง สัก กลุ่มนี้ราคาแพงเป็น 10,000-20,000 บาท

แต่นั่นไม่ใช่สาระหลัก สาระหลักคือ การทำให้คนกับป่า มาอยู่ด้วยกันอย่างมีคุณค่า...

ท่านละครับว่าอย่างไรครับ...

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา 
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| ฉบับ 3388 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค.2561