เมื่อ "เมด อิน ไชน่า" สะเทือน! "เมด อิน ไทยแลนด์" ... จะไปทางไหน?

01 ส.ค. 2561 | 12:47 น.
010861-1914

... ด้วยหนี้สินของ 'สหรัฐอเมริกา' มหาอำนาจเศรษฐกิจ อันดับ 1 ของโลก ที่มีมหาศาลถึง 21.2 ล้านล้านดอลลาร์ และขาดดุลการค้าในทุกปีกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ โดยขาดดุลการค้ากับจีนมากสุด (ปี 2560 สหรัฐฯ ขาดดุลจีนสูงถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์) ผสมโรงกับข้อกล่าวหาจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและความลับทางการค้าของสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายการลงทุนของจีน ที่ห้ามต่างชาติครอบครองกิจการและต้องให้ฝ่ายจีนถือหุ้น 50% กดดันให้หลายบริษัทต่างชาติต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับจีน ซึ่งมีความเชื่อมโยงถึงนโยบาย "เมด อิน ไชน่า 2025" ที่มุ่งเป้าผลักดันจีนเป็นเจ้าเทคโนโลยีชั้นสูงของโลก

ซึ่งหากประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย มีความเป็นไปได้สูงมากที่สหรัฐฯ จะสูญเสียตำแหน่งเจ้าเทคโนโลยีและผู้นำเศรษฐกิจโลกให้กับจีน เป็นที่มาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศทำสงครามการค้า เพื่อเตะตัดขาจีน หวังผล 2 ต่อ คือ 1.ลดการขาดดุลการค้า และ 2.สกัดจีนไม่ให้ผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม


Screen Shot 2561-08-01 at 19.17.15

การทำสงครามการค้า "สหรัฐฯ-จีน" ครั้งนี้ ส่อเค้าจะยืดเยื้อ เพราะหลังจากทั้ง 2 ฝ่าย ได้เริ่มต้นขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันในอัตรา 25% แบ่งเป็นสหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่ม 1,102 รายการ และจีนเก็บสหรัฐฯ เพิ่ม 659 รายการ คิดเป็นมูลค่าฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มล็อตแรกมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา (สหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีน 818 รายการ และจีนขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 545 รายการ) และจะเริ่มขึ้นภาษีสินค้าที่เหลือในล็อตที่ 2 ในเร็ว ๆ นี้ ยังไม่พอ สหรัฐฯ ยังเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีนระลอกที่ 2 ในอัตรา 25% อีกกว่า 6,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 2 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่ จีนย้ำที่จะตอบโต้สหรัฐฯ อย่างไม่ลดละ โดยตามการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า ระบุ มีเครื่องมืออย่างน้อย 5 ด้าน ที่จีนจะนำมาใช้ตอบโต้เพื่อโจมตีจุดอ่อนของสหรัฐฯ ได้แก่ 1.จำกัดการลงทุนของสหรัฐฯ 2.ขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม 3.ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันและแก๊สจากสหรัฐฯ 4.ลดค่าเงินหยวน (ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อยังคงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจีน) และ 5.ขายทิ้งพันธบัตร (Treasuries) รัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนถืออยู่ในมือมากกว่า 1.18 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ทำให้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ในเวลานี้

 

[caption id="attachment_302667" align="aligncenter" width="503"] โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ[/caption]

ต่อท่าทีของจีนที่ยังไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ 'ทรัมป์' ทราบดีถึงจุดอ่อนของสหรัฐฯ อยู่ที่สินค้าเกษตรที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญ ล่าสุด ได้ปิดจุดอ่อน โดยเตรียมทุ่มงบสูงถึง 1.2  หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ฝ้าย ผลิตภัณฑ์นมเนย และสุกร ที่จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่จะลดลง และจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่จะถูกลง กระทบกับรายได้และแรงงานภาคเกษตรของชาวอเมริกัน

สงครามการค้า 'สหรัฐฯ-จีน' ครั้งนี้ ยังไม่นับรวมที่สหรัฐฯ ไปทำสงครามการค้ากับเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ และจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่หลายฝ่ายจับตามอง และคาดการณ์จะเห็นรูปธรรมผลกระทบที่ชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้


003-2

ยังผลให้กระทรวงพาณิชย์เกิดความลังเลไม่ปรับเป้าส่งออกจาก 8% เป็นเป้าหมายใหม่ ที่ 9% ซึ่งได้ให้ภาคเอกชนไปทำการบ้านว่า ท่ามกลางสงครามการค้านี้มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกได้เพิ่มในสินค้าใดบ้าง โดยรอคำตอบให้นำกลับมาเสนอในวันที่ 7 ส.ค. นี้

อย่างไรก็ดี เบื้องต้น มีสินค้าไทยที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าครั้งนี้บ้างแล้ว โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยรายงานว่า เวลานี้มีผู้ประกอบการของไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากผู้นำเข้าของสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีนในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และคำสั่งซื้อในสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผัก ผลไม้ จากผู้นำเข้าของจีนเพื่อทดแทนสินค้าข้าวโพด ถั่วเหลือง และผัก ผลไม้จากสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่ระบุว่า ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จีนสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น 10% จากผู้นำเข้าเร่งนำไปสต๊อก ก่อนภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้

ขณะที่ มุมลบ มีบางสินค้าที่อาจจะชะลอตัวลง จากที่ไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตในการส่งสินค้าวัตถุดิบ หรือ กึ่งสำเร็จรูปส่งให้จีนไปประกอบ หรือ ผลิตสินค้าส่งออกต่อไปสหรัฐฯ และตลาดอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางพารา เม็ดพลาสติก และอื่น ๆ ซึ่งที่สุดแล้ว สงครามการค้าครั้งนี้ยังไม่มีใครสามารถจะประเมินได้อย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบด้านบวกและด้านลบต่อการส่งออกของไทยมากกว่ากัน เพราะทุกอย่างยังไม่นิ่งและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 

[caption id="attachment_302676" align="aligncenter" width="503"] สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน[/caption]

แต่ผลพวงจากสงครามการค้าครั้งนี้ หลายฝ่ายประเมินว่า สินค้า "เมด อิน ไชน่า" จะสะเทือนแน่นอน เพราะจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดเข้าสหรัฐฯ แต่ทางการจีน โดยประธานาธิบดี 'สี จิ้นผิง' ก็ได้เดินเกมหาตลาดใหม่รองรับทดแทนสหรัฐฯ ไว้แล้ว โดยมุ่งเป้าตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงรัสเซีย ดังนั้น จึงถือเป็นสัญญาณเตือนไทยที่ต้องเร่งหาตลาดใหม่รองรับทดแทนตลาดจีนและสหรัฐฯ เช่นกัน

ซึ่ง ณ ปัจจุบัน จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร พบว่า ไทยมีการค้ากับประเทศคู่สัญญาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 12 ฉบับ รวม 17 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาเซียน (9) เปรู และชิลี) คิดเป็นสัดส่วน 57% ของการส่งออกในภาพรวม หากนับรวมกับอีก 2 ตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ไทยยังไม่มีความตกลงเอฟทีเอสัดส่วนการส่งออกจะสูงถึง 79%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตลาดที่มีศักยภาพที่ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกยังไม่มากและสามารถจะผลักดันเพิ่มส่งออกได้อีก อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย และซีไอเอส รวมถึงเอเชียใต้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนคงต้องเร่งทำการบ้าน ทั้งศึกษาสินค้าที่เป็นที่ต้องการ ราคา ช่องทางการเจาะตลาด และการสร้างเครือข่าย การยกระดับสร้างแบรนด์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทยโดยใช้นวัตกรรม ติวเข้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สินค้าโอท็อป และสินค้าวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ให้สามารถค้าขายได้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เร่งใช้ความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ เจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า เตรียมแผนเจรจาเปิดเอฟทีเอใหม่ ๆ เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ไทยทำอยู่แล้ว แต่ต้องเชิงรุกและทำให้เข้มข้นกว่าเดิม โดยรวมพลังทุกภาคส่วนให้ก้าวผ่านสึนามิสงครามการค้าครั้งนี้ไปให้ได้




010861-1903

……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวเกษตร-การค้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เมด อิน ไชน่า 2025 อัพ‘โรงงานโลก’สู่อุตสาหกรรมเวิลด์คลาส
ผวาจีนสวมสิทธิ์ไทยส่งออก หนีผลกระทบสงครามการค้า-สรท.จับตา 4 กลุ่มเสี่ยง


e-book-1-503x62-7