ส.อ.ท.ชงแก้ปัญหาขยะล้นเมือง ดันเป็นคลัสเตอร์สู่การยอมรับโรงไฟฟ้า

10 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
ปัญหาขยะชุมชนหรือขยะมูลฝอยที่ล้นเมืองอยู่ในขณะนี้ มีการประมาณการว่าในแต่ละปีมีอยู่กว่า 26.8 ล้านตัน ได้กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พยายามจะเข้ามาแก้ไข เนื่องจากพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยดังกล่าวเข้าสู่ระบบการจัดกากที่ถูกต้องเพียง 7 ล้านตันต่อปีเท่านั้นในขณะที่ปริมาณที่เหลือได้ถูกทิ้งตามบ่อขยะเปิดที่ไม่ได้มาตรฐานที่มีอยู่ราว 2.024 พันบ่อทั่วประเทศ คิดเป็นขยะสะสมกว่า 30 ล้านตัน

ขณะที่เจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา ดูเหมือนจะตกอยู่กับกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ที่มี Roadmap การจัดการขยะของประเทศ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน โดยส่งเสริมให้มีการนำขยะมาผลิตไฟฟ้า ผ่านการสนับสนุนในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) และบางพื้นที่สนับสนุนให้แปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทนในเตาเผาอุตสาหกรรม

  ชี้ปัญหาขยะแก้ผิดทาง

แต่การดำเนินงานในการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ออกมาชี้ให้เห็นว่า การจัดการขยะมูลฝอยแม้จะมีกฎหมายให้เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทำหน้าที่ จัดเก็บ รวบรวม และกำจัดขยะตามหลักวิชาการที่กำหนด แต่พบว่าขยะมูลฝอยยังก่อปัญหามลพิษอย่างต่อเนื่องในหลายฟื้นที่

โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจาก การไม่มีการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของความล้มเหลวในการจัดการขยะ การริเริ่มและพัฒนาโครงการระบบจัดการขยะ นิยมใช้ต้นแบบจากต่างประเทศ ในขณะที่คุณสมบัติของขยะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งในเชิงพฤติกรรมการบริโภค วินัยในการคัดแยกขยะจากครัวเรือน สภาพภูมิอากาศ วงจรการเก็บรวบรวมขยะ ฯลฯ ทำให้ระบบที่เลือกใช้มีโอกาสล้มเหลวสูง

นอกจากนี้ โครงการจัดการขยะในประเทศไทยไม่ได้ส่งเสริมตามลำดับความสำคัญในหลัก Waste Management Hierarchy ที่เป็นหลักวิชาการสากล ในการเลือกวิธีกำจัดอย่างเหมาะสมและมีต้นทุนต่ำก่อน เช่น การส่งเสริมการจัดการขยะตามหลัก 3R ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วส่งเสริมการเผาร่วมในเตาเผาอุตสาหกรรมที่มีความปลอดภัยเป็นลำดับต่อไป ตามด้วยโรงไฟฟ้าขยะและบ่อฝังกลบขยะ เป็น 2 ทางเลือกสุดท้าย แต่ปัจจุบันพบว่า นโยบายส่งเสริมการทำโรงไฟฟ้าขยะที่มีต้นทุนสูงก่อน เป็นต้น

อีกทั้ง การจัดการขยะจะหาสถานที่ตั้งได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเดือดร้อนรำคาญจากการจัดการขยะในปัจจุบันกำลังทำให้ประชาชนและชุมชนไม่เชื่อมั่น และไม่สามารถยอมรับการอยู่ร่วมกับระบบการจัดการขยะได้รวมทั้ง ขาดการประชาสัมพันธ์ให้มีการคัดแยกขยะจากครัวเรือน ขยะทุกชนิดถูกขนรวมกันมาในรถขยะเช่น ขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษอาหาร และถุงพลาสติก ทำให้การบริหารจัดการขยะในขั้นตอนสุดท้ายมีความยุ่งยากและมีต้นทุนที่สูง

  ดึงชุมชนให้ยอมรับโรงไฟฟ้า

ล่าสุดทางกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ออกมาชี้ให้เห็นว่า การจะแก้ปัญหาขยะมูลฝอยให้ได้ผลนั้น รัฐบาลจะต้องมีแผนงานในการสร้างการยอมรับให้กับชุมชนที่ต้องอาศัยอยู่โดยรอบโรงขยะว่ามีความปลอดภัยและไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ พร้อมเร่งกำหนดมาตรฐานการออกแบบ และมาตรฐานการเดินโรงไฟฟ้าขยะ ให้มีความชัดเจน เนื่องจากการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจกับมลพิษที่จะปล่อยออกมา และไม่ยอมรับถึงสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้ประกอบกับการกำกับดูแล การขนส่งและรวบรวมขยะสดจากบ้านเรือนและการขนส่งขยะสดข้ามเขตอำเภอหรือจังหวัดเพื่อนำไปจัดการในพื้นที่อื่นๆปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานในการกำกับดูแลการขนส่งขยะสดที่ชัดเจน ส่งผลให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงจัดการขยะได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากปัญหากลิ่นรบกวนและปัญหาน้ำขยะหกล้น เป็นสาเหตุสำคัญของการต่อต้านการตั้ง Cluster ขยะของประชาชน และส่งผลให้ปริมาณขยะของ Cluster ไม่มากพอที่จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการสร้างระบบจัดการขยะที่ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ ในกรณีที่จะส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ ควรส่งเสริมในจำนวนโครงการเท่าที่รัฐสามารถตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะจะไม่ล้มเหลวและก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนเหมือนโครงการขยะอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ขณะเดียวกันการจัดการกากของเสียจากการคัดแยกขยะหรือจากโรงไฟฟ้าขยะจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการทำงานจากต้นทางจนถึงปลายทางขั้นสุดท้าย อย่างเช่น มาตรฐานการจัดการขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าขยะที่จะต้องกำหนดให้มีการพิจารณาตั้งแต่เริ่มโครงการ เนื่องจากมีผลต่อความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการของเอกชน และส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการเดินโรงไฟฟ้า เป็นต้น

  การแก้ปัญหาต้องทำทั้งระบบ

นายธีระพล ติรวศิน ประกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ระบุว่า ในเร็วๆนี้ ทางกลุ่มจะทำหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะที่ล้นเมืองให้เป็นไปอย่างยั่งยืนซึ่งสิ่งแรกที่จะต้องดำเนินการคือ การสร้างการยอมรับของชุมชน โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจกับ อปท. ต่างๆ ถึงต้นทุนในการกำจัดขยะโดยรวม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับมูลค่าขยะ การควบคุมเก็บสะสมขยะในพื้นที่ และการไม่ยอมรับความเดือดร้อนจากขยะของชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้ง ต้องมีการประสานงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการขยะแต่ละพื้นที่ให้รอบคอบและดำเนินการส่งเสริมเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริงกำหนดโครงการขยะที่จะส่งเสริมนำร่องบางส่วนเท่าที่จำเป็นก่อน โดยพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ ไม่ควรปล่อยให้โครงการขยะเกิดขึ้นอย่างเสรี จนขาดการควบคุมอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาจส่งผลต่อการต่อต้านของชุมชนในระยะยาว ในขณะเดียวกันโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแล้วควรได้รับการสนับสนุนให้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายได้สะดวกรวดเร็ว

หนุนผลิตไฟฟ้าจากอาร์ดีเอฟ

อีกทั้ง คัดเลือกผู้ดำเนินการจัดการขยะรายใหญ่ที่มีมาตรฐานสูงๆ ในการนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าขยะก่อนในช่วงแรก เพื่อที่จะไม่สร้างประสบการณ์ที่น่ากลัวให้กับประชาชน รวมถึงการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการจัดการขยะและโรงไฟฟ้าขยะให้ครบถ้วน ทั้งมาตรฐานออกแบบ มาตรฐานเครื่องจักร และมาตรฐานการเดินระบบ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษกับชุมชนให้น้อยที่สุด

ในขณะที่การคัดแยกขยะจากครัวเรือน ต้องมีกฎหมายบังคับและส่งเสริม เพื่อทำให้ระบบการจัดการขยะในขั้นสุดท้ายมีต้นทุนคัดแยกที่ไม่สูงจนเกินความจำเป็น และหลีกเลี่ยงการขนส่งขยะสดข้ามจังหวัด หรือขนส่งขยะสดระยะทางไกลๆ โดยส่งเสริมให้คัดแยกเป็นวัตถุดิบพลังงานทดแทนในเบื้องต้น (Low grade RDF)ที่แหล่งขยะก่อน เพื่อให้ไม่เกิดมลพิษระหว่างการขนส่งอีกรอบ ตามหลัก Green Supply Chain เพื่อความยั่งยืนของการจัดการขยะ

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะที่เคยประสบความสำเร็จแล้วในประเทศไทยก่อนเป็นลำดับแรก เช่น การผลิตเชื้อเพลิงแข็ง (RDF) ที่แหล่งขยะ ที่ประสบความสำเร็จกับขยะของประเทศไทยเป็นอย่างดีมาแล้วและจำเป็นต้องทดลองก่อนจะดำเนินการจริงเพื่อให้มั่นใจว่าจะดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหารวมทั้ง ควรสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะขนาดเล็ก(เอสพีพี) ก่อน โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(วีเอสพีพี)เนื่องจากความเป็นไปได้ในการลงทุนระบบควบคุมมลพิษที่ได้มาตรฐาน และการควบคุมมลพิษจากโรงไฟฟ้าขยะในอนาคต ที่สามารถปฏิบัติได้จริงและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดการขี้เถ้าจากการเผาไหม้ขยะให้เหมาะสม

  กำหนดคลัสเตอร์ขยะดึงลงทุน

ในขณะที่โครงสร้างการทำงานและการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนควรจะกำหนด Cluster ขยะในแต่ละจังหวัดให้ชัดเจน สร้างการยอมรับและมีผลบังคับใช้ในระยะยาว เพื่อให้เอกชนมีความมั่นใจในการลงทุน และการบริหารจัดการเกี่ยวกับการกำจัดขยะ ควรให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด เนื่องจากความสามารถในการนำเทคโนโลยีผลิตสมัยใหม่มาใช้ และการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ

อีกทั้ง การอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาตต่างๆให้กับโครงการที่ได้รับการส่งเสริม เพื่อให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และมีการกำหนดมาตรการป้องกันการหาประโยชน์จากมูลค่าหุ้นจากโครงการขยะที่ไม่ได้ดำเนินโครงการจริง

ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรี ต้องการเร่งแก้ปัญหาระดับชาติ ข้อเสนอของ ส.อ.ท. อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ขยะที่ล้นเมืองในขณะนี้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและเป็นไปได้อีกช่องทางหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559