จับตาสงครามราคาก๊าซแอลเอ็นจีปีนี้ ‘ก๊าซพรอม’ พร้อมเปิดศึกสกัดคู่แข่งสหรัฐฯ

10 ก.พ. 2559 | 11:30 น.
ขณะที่มีความคาดหมายว่า ภายในปีนี้ สหรัฐอเมริกากำลังจะส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นระลอกๆสู่ตลาดโลกในปริมาณมาก ในอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนด้านพลังงานก็กำลังหวาดหวั่นว่าบริษัทผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของรัสเซียที่เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ชื่อ แก๊สพรอม (Gazprom) ก็กำลังใช้กลยุทธ์เดียวกันกับที่ซาอุดิอาระเบียกำลังทำอยู่ในตลาดน้ำมัน นั่นคือการเดินหน้าสู่สงครามราคา

แม้ว่ารัสเซียเองก็กำลังได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายหนึ่ง ดังนั้น การเปิดศึกด้านราคาในตลาดก๊าซธรรมชาติจึงดูน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายหากจำเป็นต้องนำมาใช้ แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากก็เห็นว่า ถึงเวลานี้ กลยุทธ์สู้ศึกด้านราคาอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผลประกอบการของแก๊สพรอม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดยุโรปมีราคาต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะกดราคาให้ต่ำลงสู่จุดที่การส่งออกก๊าซธรรมชาติมาจากแหล่งไกลๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จะเป็นเรื่องไม่ทำกำไรอีกต่อไป และถ้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯไม่สามารถสู้ราคาได้ แก๊สพรอมก็จะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในตลาดยุโรปเอาไว้ได้ เนื่องจากเป็นตลาดที่ต้องอาศัยการขายเป็นปริมาณมากๆเพื่อการทำกำไรอยู่แล้ว

แต่ถ้าหากสถานการณ์สงครามราคาในตลาดก๊าซธรรมชาติของยุโรปเป็นไปตามนี้ ก็จะเกิดผลกระทบต่อตลาดพลังงานรวมทั้งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในภูมิภาคอื่นๆของโลกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวของออสเตรเลีย หรือตลาดถ่านหินในโคลอมเบีย และที่สำคัญคือผลกระทบเชิงลบที่จะมีต่อตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวของสหรัฐอเมริกา

[caption id="attachment_30605" align="aligncenter" width="400"] เจมส์ เฮนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย เจมส์ เฮนเดอร์สัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย[/caption]

เจมส์ เฮนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย จากสถาบันพลังงานศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (OIES) ให้ความเห็นว่า ผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงกว่าย่อมเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาด "ถ้าผมเป็นนักลงทุนในตลาดก๊าซแอลเอ็นจีของสหรัฐฯ ผมต้องกังวลแล้ว"

นักวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า แก๊สพรอมในตลาดก๊าซธรรมชาติก็เหมือนกับซาอุดิอาระเบียในตลาดน้ำมันดิบ เพราะทั้งคู่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพในการเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็วเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเพิ่ม

จากที่ผู้บริหารของแก๊สพรอมได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แก๊สพรอมมีกำลังการผลิตสำรองประมาร 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนในภาคการผลิตมาอย่างต่อเนื่องเพราะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าตลาดจะมีความต้องการใช้มากขึ้นในอนาคต กำลังการผลิตสำรอง (ที่สามารถผลิตสู่ระดับดังกล่าวในทันที) ของแก๊สพรอมมีสัดส่วนเกือบๆเท่ากับ 1 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของบริษัทในปัจจุบัน หรือเทียบเท่ากับประมาณ 3 % ของปริมาณการผลิตทั่วโลก

และเช่นเดียวกับที่ซาอุดิอาระเบียหวาดหวั่นว่าผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯจะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง แก๊สพรอมเวลานี้ก็อยู่ในสถานะที่ต้องการปกป้องส่วนแบ่งตลาดของบริษัทในตลาดก๊าซธรรมชาติเช่นกันเนื่องจากปัจจุบันมีก๊าซราคาถูกจากสหรัฐฯส่งออกมาจนล้นตลาด อันเป็นผลพวงมาจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ที่กำลังเฟื่องฟูในสหรัฐอเมริกาทำให้มีผลพลอยได้เป็นก๊าซธรรมชาติตามมาด้วยในปริมาณมาก เป็นที่คาดหมายว่า การส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีชุดแรกจากสหรัฐฯมีกำหนดส่งมอบภายใน 2 เดือนข้างหน้า และคาดว่าความสามารถในการส่งออกของสหรัฐฯนั้นจะเทียบเท่า 2 ใน 3 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่แก๊สพรอมส่งออกไปยังตลาดยุโรป

อย่างไรก็ตาม แต้มต่อของแก๊สพรอมคล้ายกับซาอุดิอาระเบียในตลาดน้ำมันเช่นกัน นั่นคือการเป็นผู้ผลิตต้นทุนต่ำ หรือจะถือว่าต้นทุนต่ำสุดเลยก็ว่าได้ ผู้เชี่ยวชาญตลาดพลังงานจากสถาบันพลังงานศึกษาแห่งอ๊อกซ์ฟอร์ดระบุว่า ต้นทุนที่แก๊สพรอมส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังเยอรมนีนั้นอยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ 1 ล้านบีทียู ขณะที่ก๊าซแอลเอ็นจีจากสหรัฐฯมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ราคา 4.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ 1 ล้านบีทียู แม้ว่าราคาก๊าซของสหรัฐฯนั้นถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆที่กล่าวมา จึงเป็นน้ำหนักที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า บริษัทผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่จากรัสเซียจะกดราคาลงมาเพื่อสกัดผู้ผลิตก๊าซแอลเอ็นจีของสหรัฐฯออกจากตลาด เธียรี่ บรอส นักวิเคราะห์ตลาดก๊าซธรรมชาติตลาดยุโรป จากธนาคารโซซิเยเต เจเนราล ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า ตลาดกำลังคาดการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่บริษัทของรัสเซียก็ประเมินสถานการณ์มาเป็นอย่างดีและมั่นใจว่าจะต้องชนะแน่หากเกิดสงครามราคาขึ้นมาจริงๆ สถานการณ์ราคาก๊าซในตลาดยุโรปเวลานี้ก็เป็นใจเพราะราคาก๊าซกำลังตกลงอย่างต่อเนื่อง ราคาในตลาดอังกฤษลดลงแล้วถึง 50 % ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนราคาในสัญญาส่งมอบของแก๊สพรอมซึ่งมักจะผูกติดกับราคาน้ำมัน ก็ลดลงตามมาเช่นกันและยังมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีกในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้านี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารโซซิเยเต เจเนราล ประเมินสถานการณ์ว่า แนวโน้มราคาที่ลดลงเช่นนั้นอาจจะทำให้แก๊สพรอมสูญเสียรายได้ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ หากต้องการสกัดคู่แข่งจากสหรัฐฯออกจากตลาดยุโรป อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดในวงการระบุว่า ผู้บริหารของแก๊สพรอมกำลังใคร่ครวญอย่างรอบคอบในเรื่องนี้

ในการประชุมกับผู้ถือหุ้นในสัปดาห์นี้ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา นายอเล็กซานเดอร์ เมดเวเดฟ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแก๊สพรอม ให้ความเห็นว่า ราคาก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดยุโรปซึ่งอยู่ในระดับต่ำในเวลานี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตจากสหรัฐฯ ไม่สามารถทำกำไรอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า สงครามราคาก๊าซธรรมชาติที่มีแก๊สพรอมเป็นผู้นำ หากเกิดขึ้นจริงก็น่าจะมี 2 เป้าหมายหลัก นั่นคือ การใช้ราคาต่ำสกัดกั้นการเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในยุโรปโดยบริษัทผู้ผลิตก๊าซแอลเอ็นจีจากสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น และเพื่อไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ๆในโครงการเกี่ยวกับก๊าซแอลเอ็นจีในระยะยาว ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายแรกได้นั้น ต้องทำให้ราคาก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดยุโรปลดลงมาต่ำกว่าต้นทุนนำเข้าก๊าซจากสหรัฐฯ ซึ่งเธียรี่ บรอส นักวิเคราะห์จากธนาคารโซซิเยเต เจเนราล เชื่อว่ามีโอกาสเป็นจริงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 นี้ แต่นั่นก็จะส่งผลกดดันแก๊สพรอมในด้านรายได้และกำไร จึงเชื่อว่าจะเป็นได้เพียงในระยะสั้นๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เชื่อว่าแก๊สพรอมน่าจะใช้เป็นกลยุทธ์ระยะกลางซึ่งจะทำได้อย่างยั่งยืนมากกว่าคือการรักษาสมดุลของราคาในตลาดยุโรปเพื่อไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และเมื่อโครงการใหม่เกิดขึ้นน้อย นั่นก็อาจจะทำให้ราคาก๊าซแอลเอ็นจีขยับขึ้นมาได้บ้างในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559