กนง.ย้ำเศรษฐกิจไทยยังห่างเงินฝืด ประเมินจีดีพีปี 59 โตใกล้ 3.5% ยืนดอกเบี้ยที่ 1.50%

11 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
บอร์ด กนง.ประเมินจีดีพีปี 59 ขยายตัวใกล้ 3.5%ชูอุปสงค์ภายในเป็นปัจจัยหนุนหลัก ขณะที่ต่างประเทศเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด ยันดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 1.5% ต่อปีถือว่าผ่อนคลายแล้วขณะที่สินเชื่อยังเติบโตได้ดี

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึงแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2559 โดยระบุว่า น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ซึ่งคณะกรรมการฯประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5% โดยปัจจัยที่สนับสนุนมาจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ความเสี่ยงจากต่างประเทศก็ยังคงมีอยู่ และถือเป็นความเสี่ยงหลักที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ประเมินก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประเมินไว้ก่อนหน้านี้

"กนง.ยังคงประเมินจีดีพีในปีนี้จะขยายตัวใกล้เคียงระดับ 3.5% ที่เคยประเมินไว้ครั้งก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตจากปี 2558 ที่ประเมินว่าจะโตในระดับ 2.8% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเรียนว่าการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวไม่ใช่เป็นฟื้นตัวแบบที่ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์"

สำหรับการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) นั้น ก็เป็นการเผื่อว่าหากในอนาคตการคาดการณ์เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ กนง. คาดไว้ จากความเสี่ยงที่ประเมินว่าจะเป็นไปในทิศทางด้านต่ำ การดำเนินนโยบายการเงินก็ยังมีช่องว่าง หรือพื้นที่พอในการดำเนินนโยบาย ซึ่งจะแตกต่างจากหลายประเทศที่มีการปรับลดดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับต่ำแล้วจำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยคณะกรรมการก็มองว่านโยบายในระดับปัจจุบัน 1.50% ต่อปี ถือว่าผ่อนคลายอยู่แล้ว อีกทั้งหากดูตัวเลขของการขยายสินเชื่อก็ยังคงสามารถเติบโตได้อยู่

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าที่ประชุมมีการหารือถึงกรณีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ (BOJ) หรือไม่นั้น คงต้องเรียนว่าเป็นการเอ่ยถึงนโยบายของต่างประเทศโดยรวมมากกว่า ไม่ใช่เจาะจงเฉพาะ เนื่องจากเริ่มเห็นการขยับนโยบายของหลายประเทศ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความผันผวนของตลาดเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดความผันผวนมากขึ้น

"หากถามว่ามีการเตรียมความพร้อมรับมือการผันผวนอย่างนั้น คงต้องเรียนว่าตามปกติเราก็จะมีกลไกในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะกระทบต่อไทยอย่างมากก็คือการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้ามากกว่าเรื่องของตลาดการเงิน แม้ว่าตลาดจะมีความผันผวน แต่ตลาดก็จะจัดการตัวเองได้ในระดับหนึ่ง" นายจาตุรงค์กล่าวและว่า

ขณะที่เรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก คณะกรรมการประเมินและมีมุมมองว่าน่าจะอ่อนค่าลงกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าน่าจะสูงกว่าระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยถือว่าเป็นความเสี่ยงอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ซึ่งจะต้องติดตามดูว่าราคาจะตกลงไปมากน้อยเพียงใด โดยปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก เนื่องจากไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ผลิตด้วย

"เรายังคงมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังสามารถทยอยปรับสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังไม่กลับมาเป็นบวกก็ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเศรษฐกิจยังคงเติบโตอยู่ และแม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบแต่อัตราการขยายตัวของจีดีพีก็น่าจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ในการประชุมครั้งก่อน"

นายจาตุรงค์ ยังได้กล่าวต่อไปอีกถึงเรื่องของสภาพคล่องในระบบการเงินด้วยว่า ปัจจุบันสภาพคล่องในรูปของเงินบาทไม่น่าจะเป็นปัญหาของระบบสถาบันการเงินไทย เพราะหากมองจากแถลงการณ์ของ กนง. ก็จะระบุชัดเจนว่านโยบายการเงินยังมีความผ่อนปรนเพียงพอ รวมถึงสินเชื่อยังมีการขยายตัวได้ และเงินฝากก็ยังเติบโตอยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559