มะกัน-ญี่ปุ่น-ออสซี่ ลงนามไตรภาคีระดมทุนผุดโครงการในอินโด-แปซิฟิก

01 ส.ค. 2561 | 05:43 น.
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้ลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนไตรภาคีเพื่อให้ความสนับสนุนโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิค”  หรือประเทศที่รายรอบมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยจะประเดิมด้วยโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี

แถลงการณ์ที่ออกในนามกระทรวงการค้าและการต่างประเทศของออสเตรเลีย ร่วมกับบรรษัทการลงทุนในต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (U.S. Overseas Private Investment Corp) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ( Japanese Bank for International Cooperation)ระบุว่า ความร่วมมือ 3 ฝ่ายนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อระดมเงินลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าสู่โครงการต่างๆที่จะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิค และสนับสนุนบรรยากาศการค้าการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง และกระจายประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนในสังคม

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่านี่คือการเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯในการถ่วงดุลอำนาจกับจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองผ่านทางโครงการความร่วมมือหลากหลายรูปแบบที่มีกับประเทศต่างๆในแถบเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อโครงการความเริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative หรือ BRI)

ทั้งนี้ ความร่วมมือไตรภาคีของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในขั้นต้นจะครอบคลุมโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี โดยกลไก 3 ประสานที่เกิดขึ้นจะพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ

mikepompeo

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายไมค์ ปอมปิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯได้ออกมาระบุว่า สหรัฐฯ มีโครงการความริเริ่มมูลค่ารวม 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3,616 ล้านบาทในประเทศกำลังพัฒนาของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคนี้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯซึ่งกำลังเปิดสงครามการค้ากับจีน ไม่ได้มีเป้าหมายเอาชนะคะคานหรือมุ่งแข่งขันกับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนที่รัฐบาลเป็นหัวหอก อีกทั้งยังมีขอบเขตของโครงการแผ่ขยายไปในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป “เงินลงทุนนี้เป็นเปรียบเสมือนเงินดาวน์ก้อนแรกของสหรัฐฯเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนสันติภาพและความเจริญทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคนี้” ปอมปิโอกล่าว และยังย้ำด้วยว่า สหรัฐฯจะคัดค้านประเทศใดก็ตามที่คิดจะขยายอิทธิพลครอบงำภูมิภาคนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ตีความไปว่า คำกล่าวของปอมปิโอนั้น หมายถึง “จีน” นั่นเอง

นายไบรอัน ฮุก ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของนายปอมปิโอ เปิดเผยว่า เป้าหมายของสหรัฐฯนั้นแตกต่างจากจีน เพราะนโยบายของจีนคือ ดำริโดยจีน เพื่อประโยชน์ของจีน (Made in China. Made for China) แต่โครงการความริเริ่มของสหรัฐฯในอินโด-แปซิฟิก จะเน้นระดมเงินทุนจากภาคเอกชนเข้ามา โดยที่ภาครัฐฯจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนแต่เพียงน้อย เน้นไปที่บทบาทช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนลงทุนได้อย่างสะดวกสบายไร้ข้อติดขัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เป็นโครงการที่มีมาตรฐานคุณภาพสูง โปร่งใส และมีความยั่งยืน ทั้งนี้ ในขั้นต้นสหรัฐฯมีแผนการลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการส่งออกสินค้าด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ และยังมีการลงทุนอีกเกือบ 50 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในหลายประเทศของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่ยังไม่สามารถระบุรายละเอียด