JP Insurance ลั่น! ขึ้นแท่นผู้นำประกันภัย 'Drone'

05 ส.ค. 2561 | 05:22 น.
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์และรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ บริษัท ฟีนิกซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หลังกลุ่มเจมาร์ทได้ทุ่มเงินกว่า 390 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 55% พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ JP Insurance

หลังซุ่มจัดระเบียบหลังบ้าน พลิกฟื้นและปรับเปลี่ยนองค์กรช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา "ฉัตรชัย ธนาฤดี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ JP Insurance ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เป้าหมายหลัก คือ การสร้างความเข้มแข็งของแบรนด์ควบคู่กับนำเทคโนโลยี เสนอนวัตกรรม หรือสินค้าใกล้ตัว ตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง เพื่อลดจุดอ่อนและดึงลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับสินค้าและบริการ ซึ่งนอกจากดิจิตอลจะเป็นพื้นฐานแล้ว ยังให้ความสำคัญกับความทันสมัยในตัวสินค้าและบริการด้วย

 

[caption id="attachment_302428" align="aligncenter" width="335"] รูป-ดร.ฉัตรชัย-2-(1) ฉัตรชัย ธนาฤดี[/caption]

ซึ่งจาก Synergy ในกลุ่มเจมาร์ทเอง ครึ่งแรกปีนี้ บริษัทได้ออก 2 โปรดักต์ไปแล้ว คือ บริการต่อพ.ร.บ. สำหรับลูกค้าที่ร้านค้า หรือ สาขาของเจมาร์ท 200 แห่งทั่วประเทศ และบริการดูแลเครื่องดูแลคุณ สำหรับลูกค้าที่ซื้อมือถือจากร้านเจมาร์ท โดยรับประกันหน้าจอโทรศัพท์และประกันอุบัติเหตุลูกค้า ซึ่งเป็นการดูแลทั้งเครื่องและคน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างประเมินผลตอบรับ

นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับ บริษัท มาสิ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ประกันภัยออนไลน์ (Masii.com) และเป็นหนึ่งของบริษัทในเครือบริษัท บี.กริมฯ ผู้ผลิตประกันภัยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone) ซึ่งหลังออกแพ็กเกจมีลูกค้าทำประกันภัยโดรนแล้วกว่า 1,000 เครื่อง ขณะที่ ตลาดธุรกิจโดรนในไทย คาดว่ามีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการขึ้นทะเบียนโดรนในไทยแล้วกว่า 1 หมื่นเครื่อง และยังจะเห็นอีกจำนวนมาก เพราะพฤติกรรมของผู้ที่เล่นโดรน อาจจะเริ่มจากเครื่องเล็กก่อนขยายไปเป็นโดรนขนาดใหญ่ จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่จะเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดประกันภัยโดรนร่วมกัน ซึ่งในอนาคตยังจะร่วมวางแผนเพื่อพัฒนาโครงการประกันภัยโดรนและประกันอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องด้วย

การสร้างการเข้าถึงลูกค้า หลัก ๆ จะผ่าน 4 ช่องทางคือ 1.Synergy ในกลุ่มเจมาร์ท หรือ ผลิตภัณฑ์ซิงเกอร์ เช่น บริการรถทำเงิน หรือ จำนำทะเบียน หรือ 2.ช่องทางออนไลน์ผ่านแอพพลิ เคชัน ซึ่งอยู่ขั้นตอนขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คาดว่าน่าจะให้บริการได้ในเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน 3.ช่องทาง "BtoBtoC" ผ่านโบรกเกอร์ หรือ ตัวแทนประกันภัย เพื่อส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค เพราะโบรกเกอร์แต่ละรายจะมีฐานลูกค้าต่างกัน และ 4.ช่อง "BtoB" ซึ่งเป็นธุรกิจหรือบริษัทที่ต้องการให้เราเข้าไปปรับโครงสร้างประกันภัยใหม่ เพื่อลดความเสี่ยง โดยจ่ายเบี้ยเท่าเดิม หรือ บางธุรกิจขายสินค้าและบริการ โดยมีประกันภัยพ่วงไปด้วยเพื่อให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น

ช่องทาง BtoB ยังหมายรวมถึงลูกค้าองค์กรที่ต้องการทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ อย่างที่กำลังทำอยู่คือ ความร่วมมือ 5Consortium ในการประกันภัยรถไฟฟ้า การประกันภัยรถเมล์ 24 ที่นั่งหรือ รถฟอร์กลิฟต์ (Forklift) ซึ่งต้องดูว่า ตลาดจะตอบรับเพียงไร

"ในเชิงธุรกิจ เราพยายามฉีกตลาด ไม่ร่วมแข่งขันในตลาดที่ไม่ถนัดและอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นประโยชน์ของประกันภัย เพราะประเทศไทยมีคนถือกรมธรรม์ 38% ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ประมาณ 300% คือ 1 คน ถือกรมธรรม์ 3 ใบ ดังนั้น จึงมองโอกาสในเมืองไทย เพียงแต่ต้องหาสิ่งที่ยังขาด เพื่อส่งตรงบริการและสินค้าที่ตอบโจทย์และโดนใจของผู้บริโภค"

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561 หน้า 23-24