'มงคล ลีลาธรรม' สานต่อ 3 ภารกิจเอสเอ็มอีแบงก์ มุ่งสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนา

10 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์หรือธพว.) หนึ่งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีผลงานต่อเนื่อง ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ดมีนโยบายฟื้นฟูกิจการ 7แห่ง โดย "มงคล ลีลาธรรม"กรรมการผู้จัดการคนใหม่(บอร์ดธนาคารอนุมัติเมื่อวันที่ 24 พ.ย.58) "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงภารกิจและนโยบายที่จะปลุกปั้นธนาคารให้เป็นองค์กรแห่งความหวังของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในประเด็นน่าสนใจดังนี้

 เดินหน้านโยบายจากบนลงล่าง

"มงคล" สะท้อนภาพเอสเอ็มอีแบงก์ว่า วันนี้ถือว่าแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบในอดีต เห็นได้จากผลงานในปีที่ผ่านมาตัวเลขผลประกอบการและเอ็นพีแอลที่ดีขึ้น สะท้อนถึงสถานะที่แข็งแรงขึ้น ไม่เป็นภาระของรัฐบาลอีกต่อไป แต่ภายใต้ภาวการณ์ฟื้นฟู ปัญหาก่อนหน้าที่ผ่านมาจำเป็นต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้ธนาคารสามารถเดินหน้าทำพันธกิจและบทบาทของแบงก์รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอยู่ 3 ภารกิจใหญ่ๆ โดยภารกิจที่ 1การสร้างเป้าหมายเดียวในการทำงานไปพร้อมเพียงกันทั้งองค์กร หลังจากนี้การทำงานหรือนโยบายจะเป็นแบบบนสู่ล่าง โดยจะปรับโครงสร้างการทำงานให้เป็นเนื้อเดียวกัน

สอดคล้องกับภารกิจที่ 2 คือ ต้องปรับเปลี่ยนและวิเคราะห์กระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับลูกค้าของธนาคารที่จะคงไว้ใน 3กลุ่มหลัก(ณ ธ.ค.58) ประกอบด้วย 1. กลุ่มขนาดเล็กที่มียอดขายไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 1.34 หมื่นล้านบาทหรือ 16% ของฐานสินเชื่อทั้งหมด มีจำนวน 5.21 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 76% ของฐานลูกค้าทั้งหมด กลุ่ม 2ยอดขาย 1-5 ล้านบาท ยอดสินเชื่อ 2.69 หมื่นล้านบาท มีจำนวน 1.27 หมื่นราย และกลุ่ม3 ที่มียอดขาย 5-15 ล้านบาท มีจำนวน 3.18 พันราย ยอดสินเชื่อ 1.78 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้เป็นลูกค้าค้างเก่าในอดีต 2กลุ่ม คือ กลุ่มที่มียอดตั้งแต่ 15-50 ล้านบาท มีจำนวน 698 ราย หรือ 1% ยอดสินเชื่อ 1.12หมื่นล้านบาท คิดเป็น 13% และกลุ่ม 50 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 242 ราย หรือ 0% ยอดสินเชื่อ 1.67หมื่นล้านบาท หรือ 19% อย่างไรก็ดีทั้ง 2 กลุ่มสุดท้ายดังกล่าวนี้ธนาคารจะไม่ปล่อยเกิน 15 ล้านบาทอีกต่อไป

ส่วนภารกิจที่ 3 การนำระบบเทคโนโลยีหรือการพัฒนาระบบการวิเคราะห์สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ(เครดิตสกอริ่ง)รวมถึงบทวิเคราะห์วิจัยที่จะนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยคัดกรองให้เหมาะสมกับลูกค้าและช่วยลดขั้นตอนกระบวนการอนุมัติจากเดิมที่ใช้เวลา 48 วันโดยตั้งใจจะเหลือเพียง 28 วัน โดยจะทยอยพัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นภายในปี 2560

"วันนี้ภาพของเอสเอ็มอีแบงก์ดีขึ้น ไม่เป็นภาระของรัฐ เพราะแผนที่วางไว้ค่อนข้างดีและชัดเจน เหลือแต่องค์ประกอบที่ต้องเดินหน้าภารกิจและพันธกิจหลัก โดยตอกย้ำกับพนักงานและองค์กรในการร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่วางแผนไว้ อาจจะมีปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ภัยแล้ง การส่งออก ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบลูกค้า แต่เราก็พยายามจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตอนนี้เราก็รายงานตัวเลขความคืบหน้าให้กับท่านรองนายก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และธปท.ทุกเดือนสำหรับแผนงานที่เราเดินและทำอยู่"

 สานต่อนโยบาย Development Bank

หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง "มงคล" เดินหน้าตามพันธกิจใหม่ คือ การเป็นธนาคารพัฒนา หรือ Development Bank โดยโจทย์หลักที่รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้องการให้เอสเอ็มอีแบงก์ช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2-3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม Start Up ที่มีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับเรื่องคอยดูแล และ 2.กลุ่ม Speed Up ที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลโดยตรง
นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องการให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่มาตรการบัญชีเดียว โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง ซึ่งหากสามารถดึงผู้ประกอบการเข้าระบบจะช่วยในเรื่องการยกระดับผู้ประกอบการ

ทั้งยังช่วยให้ในอนาคตผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่สถาบันการเงินก็มีความมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งได้ประโยชน์จากทั้ง 2 ฝ่าย และการเชิญชวนลูกค้าของธนาคารร่วมโครงการจัดทำบัญชีเดียวตามนโยบายของรัฐโดยใช้เครือข่ายสาขาของธนาคาร โดยเชื่อว่าจะมีลูกค้าสนใจเข้าร่วมโครงการจดทะเบียนกับกรมสรรพากรประมาณ 3พันรายจากฐานลูกค้านิติบุคคลปัจจุบันมีอยู่ 1.25 หมื่นราย

"ภารกิจภาครัฐไม่ยาก หากทำได้จะช่วยเอสเอ็มอีได้อีกมาก เช่น การเข้าสู่บัญชีเดียว จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มเอสเอ็มอีมาก เพราะจะช่วยเรื่องการควบคุมระบบภายในให้รัดกุม ลดการเกิดทุจริต เงินขาดบัญชีได้ หรือหากมีข้อมูลเรื่องต้นทุนและค่าใช้จ่าย รายได้-รายรับ จะช่วยเรื่องการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ หรือการซื้อขายธุรกิจ หรือแม้แต่การเข้าถึงธนาคาร"

 สกัดหนี้ใหม่-ปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับแผนธุรกิจปี2559 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปี 3.5 หมื่นล้านบาทและการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการชี้วัดทำงานอย่างหนึ่ง ซึ่งในปีนี้ต้องลดเอ็นพีแอลลงประมาณ 5 พันล้านบาท จาก 2.3 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือลดลงจากระดับ 27%เหลือ 18% โดยแนวทางการลดเอ็นพีแอลมี 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1.การสกัดสินเชื่อใหม่ไม่ให้มีเอ็นพีแอลเกิดขึ้น โดยการควบคุมคุณภาพสินเชื่อหลังจากปล่อยไปแล้ว 1 ปี จะต้องไม่ให้มีหนี้เสียเกิดในอัตรา 5% ซึ่งปัจจุบันธนาคารทำได้ค่อนข้างดีอยู่ในระดับ 1% เท่านั้น

แนวทางที่ 2 สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ปกติ แต่มีความต้องการที่จะดำเนินธุรกิจต่อ กลุ่มนี้ธนาคารจะเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถลูกค้า ทั้งในส่วนยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ลดวงเงินชำระหนี้ตามความสามารถของลูกค้า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้คาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนประมาณ 2 พันล้านบาท

ส่วนแนวทางที่ 3 การตัดหนี้สูญ ที่อยู่ในกระบวนการทางบัญชี กลุ่มนี้จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ธนาคารดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย ทั้งในส่วนยึดทรัพย์ หรือกระบวนการล้มละลาย กลุ่มจะเป็นกลุ่มที่ธนาคารดำเนินการเอง แต่จะมีกลุ่มที่ดำเนินการยาก โดยหยุดดำเนินธุรกิจ หรือหลบหนี แต่มีสินทรัพย์หากไม่เร่งดำเนินงานทิ้งสินทรัพย์เหล่านี้ไว้นานอาจจะมีการเสื่อมค่าได้ แต่เป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อนในการติดตามธนาคารจึงจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการต่อ เพราะการติดตามอาจจะใช้เวลานานถึง5-6 ปี ดังนั้น หากรวมการตัดหนี้สูญและกลุ่มที่ให้บริษัทเฉพาะทางเข้ามาช่วยดำเนินการวงเงินกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 2.5 พันล้านบาท จากปีก่อนมีอยู่ 6.18 พันล้านบาท

ขณะที่กลุ่มที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้และกลับมาเป็นหนี้ใหม่ (Re-Entry) ปัจจุบันอยู่ในระดับ 16-17% ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับภาวะและปัจจัยแวดล้อมที่ผ่านมาอัตราจะอยู่สูงที่ระดับ 26% โดยเทียบกับเอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับสูงสุดในช่วงกลางปี 2557 ที่อยู่ในระดับ 3.7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ตัวเลขที่ลดลงเหลือ 16% รวมถึงอัตราการปล่อยสินเชื่อใหม่ย้อนหลังใน 1 ปี พบว่ามีอัตราหนี้เสียเกิดขึ้นเพียงประมาณ 1% จากเพดานที่กำหนดไว้ให้ไม่เกิน 5% สะท้อนถึงผลงานหลังจากมีการเก็บกวาดบ้านมาหลายครั้งว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และยังสะท้อนถึงแนวโน้มระยะข้างหน้าจะต้องปรับตัวดีขึ้นกว่า

ส่วนอัตราความพอเพียงต่อเงินกองทุน (BIS) ตัวเลข ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ระดับ 13.5% สูงกว่าธปท.กำหนดไว้ที่ระดับ 8.5% ถือว่าธนาคารไม่ได้มีปัญหาของเงินกองทุน ส่วนตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 1.377 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะมีขาดทุนสะสมอยู่ แต่การลดขาดทุนสะสมของธนาคารจะแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่ต้องรีบเร่งแก้ เพราะมีเรื่องของผู้ถือหุ้น ซึ่งในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์จะต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของเอ็นพีแอลและการทำธุรกิจควบคู่กันไป ดังนั้น เป้าหมายการล้างขาดทุนสะสมคงยังไม่ใช่เป้าหมายหลักอย่างเดียวที่จะต้องทำ คาดว่าภายใน 4-5 ปี น่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559