วิเคราะห์ ‘ไพรมารีโหวต’ ไทย ที่ใช้บังคับครั้งแรกในปีหน้า (จบ)

01 ส.ค. 2561 | 00:32 น.
จากบทความใน 2 ฉบับที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทความไตรภาคเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวต คงทำให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการเกิดการเลือกตั้งในระบบนี้ รวมถึงข้อมูลการเปรียบเทียบรูปแบบการเลือกตั้งที่มีการใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5 รูปแบบ

บทความนี้จะเป็นบทส่งท้ายในบทความชุดไตรภาค ซึ่งแน่นอนว่าจะย้อนกลับมาพิจารณาถึงระบบไพรมารีโหวตของไทย ที่ได้มีการออกกฎหมายมารับรองไว้ในหมวด 3 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของบทความชุดไตรภาคนี้ เนื่องจากจะแสดงให้เห็นว่า ในกฎหมายฉบับดังกล่าว ประเทศไทยเลือกใช้ไพรมารีโหวตในระบบใด เหมือนคล้ายกับระบบที่ใช้อยู่ในต่างประเทศหรือไม่

นอกจากนี้ ยังจะได้พิจารณาถึงการที่กฎหมายไทยบังคับให้มีไพรมารีโหวตในระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตนั้น สอดคล้องกับที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีไพรมารีโหวตหรือไม่อย่างไร ทั้งยังจะได้แสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของการจัดให้มีไพรมารีโหวต นอกจากนี้ ในส่วนสุดท้ายที่เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งผู้เขียนมุ่งนำเสนอ ก็คือ การจัดให้มีไพรมารีโหวต ในลักษณะใดจึงจะเหมาะสมกับบริบทของสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน

 

ไพรมารีโหวต3

 

ในประเด็นแรก ปัจจุบันกฎหมายไทยได้กำหนดบังคับให้มีไพรมารีโหวตสำหรับกรณีที่จะมีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งดังกล่าวในระบบปิด (Closed Primary) ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรค 2 โดยให้พรรคการเมืองส่งผู้แทนที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจากบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากสาขา หรือ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นั่นหมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกบุคคลที่จะเป็นผู้แทนของพรรคต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นเท่านั้น อันเป็นรูปแบบของระบบปิด ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่มีใช้อยู่ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เม็กซิโก และแคนาดา

แต่หากจะพิจารณาในประเด็นเรื่องวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีไพรมารีโหวต แท้ที่จริงแล้วการเลือกตั้งนี้ มุ่งที่จะเฟ้นหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้แทนของสมาชิกพรรคการเมืองนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในหลายประเทศที่นำระบบไพรมารีโหวตมาใช้นั้น เกิดขึ้นจากความสมัครใจของพรรคการเมืองเอง เนื่องจากพรรคต้องการทราบว่า ผู้สมัครคนใดเป็นผู้ที่อยู่ในใจของประชาชนที่มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้ง จะได้ส่งบุคคลดังกล่าวลงสมัครในนามพรรค ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ

ดังนั้น การจัดไพรมารีโหวต ของหลายประเทศ จึงไม่ได้ถูกกำหนดให้จำเป็นต้องจัดให้มีขึ้น ดังเช่นที่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ของไทยกำหนดบังคับไว้ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ประเทศโดยส่วนใหญ่ไม่ได้บังคับให้ต้องจัดให้มีไพรมารีโหวตก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแต่อย่างใด นอกจากนี้ ประเทศที่นำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่เป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างจากบริบทของการเลือกตั้งของประเทศไทย ซึ่งการเลือกผู้แทนฯ เข้าสู่สภายังประกอบไปด้วยผู้แทนที่มาจากหลายพรรคการเมืองเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้หากจะพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของไพรมารีโหวต จะเห็นได้ว่าระบบที่ให้ผู้แทนที่จะลงสมัครต้องมาจากการคัดเลือกโดยตรงของสมาชิกพรรค ซึ่งเรื่องนี้น่าจะถือเป็นเหตุผลหลักของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติต้องการที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเพียงผู้ที่จะสืบทอดอำนาจ หรือ เป็นไพรมารีโหวตของผู้มีอำนาจหรือขั้วอำนาจเดิมของพรรคการเมือง

ดังนั้น หากมีการนำระบบนี้มาใช้ ดูเหมือนว่าผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งคือผู้แทนที่สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือก หาได้มาจากการวางตัวจากกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใดไม่ ในประเด็นนี้ก็น่าจะถือได้ว่า นี่เป็นข้อดีของระบบไพรมารีโหวต แต่การกำหนดหลักเกณฑ์บังคับไว้ในกฎหมายโดยบังคับให้ทุกพรรคที่ต้องการจะส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขต พรรคการเมือง ต้องจัดให้มีสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้จะมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพรรค ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 47 วรรค 2 นั้น

 

ไพรมารีโหวต2

 

ในส่วนนี้ถือเป็นภาระทางการเงินของพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับพรรคเล็กหรือพรรคการเมืองที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งหากพรรคไม่มีกำลังทรัพย์มากพอก็จะไม่สามารถจัดให้มีไพรมารีโหวต เพื่อที่จะสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองของตนตามที่กฎหมายกำหนดได้ ในส่วนนี้ ถือได้ว่าเป็นข้อเสียอย่างยิ่งต่อการสร้างความเสมอภาคของโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็ก ซึ่งยังคงเป็นโครงสร้างหลักของการแข่งขันทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าภายใต้บริบทของสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน การกำหนดให้มีไพรมารีโหวตดูจะเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคในการแข่งขันของพรรคการเมือง และถึงแม้จะย้อนกลับมาพิจารณาในส่วนของข้อดี การที่กฎหมายมุ่งจะหาผู้แทนของพรรคที่แท้จริงไม่ใช่ผู้สืบทอดอำนาจ หรือ นอมินี เข้าสู่ระบบการเมือง ก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว เนื่องจากในมาตรา 50 (5) กฎหมายกลับกำหนดให้โอกาสที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีสิทธิไม่เห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครที่สาขาหรือตัวแทนพรรคการเมือง ประจำจังหวัดส่งมา ประกอบกับเมื่อได้ประชุมร่วมกับกรรมการสรรหาของพรรคแล้ว ก็สามารถที่จะเสนอชื่อผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นผู้ที่สมาชิกพรรคเสนอได้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายของเม็กซิโกและอาร์เจนตินา ดังนั้น ประเด็นที่น่าจะถือเป็นข้อดี

หลักของกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ถูกทำลายลงด้วยข้อกำหนดในบทบัญญัติมาตรา 50 (5)

จากมุมมองในทางวิชาการของผู้เขียนจึงเห็นว่า ภายใต้บริบทของการเมืองไทยในปัจจุบัน การจัดไพรมารีโหวต ควรจะเป็นเรื่องสมัครใจของพรรคการเมืองมากกว่า เพื่อเปิดโอกาสการแข่งขันในการเลือกตั้งได้อย่างเสมอภาคภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่หากต้องการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางและดำเนินการได้อย่างมีอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำ ดังที่ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็ควรที่จะต้องตัดอำนาจตามมาตรา 50 (5) ดังกล่าวออกไป จึงจะพอทำให้ผู้เขียนเห็นว่า การนำระบบไพรมารีโหวตมากำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้พอที่จะมีประโยชน์อยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหวังว่า พี่น้องชาวไทยจะออกมาใช้สิทธิใช้เสียงในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้อย่างเต็มที่ ให้สมกับที่พวกเรารอคอยนะครับ

คอลัมน์ : รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย|โดย...มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
|หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3388 ระหว่างวันที่ 2 - 4 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62