ซิตี้แบงก์แนะกระจายพอร์ตเสี่ยง รับมือตลาดผันผวน

03 ส.ค. 2561 | 12:09 น.
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทย ยังคงเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทั้งความกังวลจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนและสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งไม่ลดความร้อนแรงลง และยังก่อให้เกิดความกังวลใหม่ว่า จะก่อตัวไปสู่สงครามค่าเงิน หลังจากเห็นประเทศคู่กรณีของสหรัฐฯหันมาใช้นโยบายการเงินอ่อนค่า

“ดอน จรรย์ศุภรินทร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ตลาดจะมีความผันผวนมากขึ้น แต่จะยังเห็นเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะขยายตัว 3.4% สูงกว่าปีก่อนและสูงสุดในรอบ 8 ปี ขณะที่สหรัฐฯ เติบโตที่ 2.3% ตลาดเกิดใหม่เติบโตอยู่ที่ 4.8% ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.2% ในปีนี้และปีหน้า

[caption id="attachment_302035" align="aligncenter" width="503"] ดอน จรรย์ศุภรินทร์ ดอน จรรย์ศุภรินทร์[/caption]

“ทิศทางการลงทุนในปีนี้ มองว่า บรรยากาศยังเอื้อต่อการลงทุนและยังเห็นอัตราผลตอบแทน (Yield) เป็นบวก แต่จะเห็นอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักหรือไม่ อาจต้องรอดูก่อน จากความผันผวนที่สูงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่จะเห็นผลตอบแทนในหุ้นสูงเกือบ 40% และเฉพาะในสหรัฐฯสูง 20% ดังนั้นปีนี้จะเห็นอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS) ยังคงเติบโตเป็นบวกและเป็นการเติบโตในทุกภูมิภาค (Region) เช่น ดัชนี S&P ในสหรัฐฯ เติบโตค่อนข้างสูง 19.7% ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) 15% และยุโรป 11%”

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ถือว่าขยายตัวได้ดี โดยครึ่งปีแรกสามารถเติบโตแล้ว 10% ในแง่จำนวนลูกค้า สอดคล้องกับสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ(AUM) ที่ขยายตัว แม้ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจรุนแรงมากขึ้น แต่ธนาคารยังคงเน้นกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ลงทุนที่แตกต่างและหลากหลาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ลงทุนในตลาด Off Shore ที่ลูกค้าสามารถออกไปลงทุนได้ รวมถึงกองทุนที่ออกมาต่อเนื่อง และแนะนำลงทุนผ่านเครื่องมือต่างๆ ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ในภาวะตลาดที่มีความผันผวน แนะนำให้ลูกค้าหรือนักลงทุนผ่าน 4 ธีมหลัก โดยเน้นกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายภูมิภาค (Managing Volatility)และในกองทุนผสม (Multi-Asset)ซึ่งในระยะสั้น เพื่อลดความผันผวนในตลาด โดยให้นํ้าหนักการลงทุนไปที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตลาดเกิดใหม่ และไทยยังเป็นตลาดที่น่าสนใจอยู่ รวมถึงยุโรป และญี่ปุ่น โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความสำคัญและเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกเซ็กเตอร์ รวมถึงหุ้นภาคการเงินและพลังงาน โดยผ่านกลยุทธ์ Benefit from Growth Expansion MP19-3388-A

ขณะเดียวกัน ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จะเห็นนักลงทุน ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ หรือ Seek Shelter with Income โดยธนาคารแนะนำลงทุนโดยให้นํ้าหนักในตราสารหนี้เอกชนสหรัฐฯ ที่จัดอยู่ในระดับน่าลงทุน (US Investment Grade) และตราสารหนี้สหรัฐฯที่ให้ผลตอบแทนสูง(High-Yield Bond) ซึ่งอัตราผลตอบเฉลี่ยอยู่ที่ 4% นอกจากนั้น ช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าได้จากมาตรการลดภาษีของนโยบายสหรัฐฯ ธนาคารจึงแนะนำผ่าน Return of USD Weakness ผ่านการลงทุนในเงินตราต่างประเทศ เช่น เงินยูโร

และเพื่อเป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในกองทุนประเภท Multi Asset ธนาคารได้ร่วมกับบลจ.แมนูไลฟ์ฯ เปิดตัว “กองทุนแมนูไลฟ์ ซีรีย์ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Franklin Next Step Series ที่จะใช้เป็นกองทุนหลัก โดยแบ่งเป็น 3 กองทุนตามประเภทความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้

“กองทุนประเภท Multi Asset จะเป็นกองทุนที่หลายๆ บลจ.หรือสถาบันการเงินออกมาแข่งขันกันค่อนข้างมาก เพราะเป็นสินทรัพย์หลายประเภทสามารถตอบโจทย์ลูกค้า และเป็นกองทุนที่ลูกค้าเริ่มให้ความสนใจในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ซึ่งเป็น One Stop Shop ที่เปลี่ยนการลงทุนในสินทรัพย์เดียวมาลงทุนในกองนี้ ซึ่งลูกค้าสามารถแบ่งเงินลงทุนใน 3 กองเลยก็ได้”

สัมภาษณ์ : โต๊ะข่าวกองทุน

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2-4 ส.ค. 2561 e-book-1-503x62