Management Tools : เปิดหน้าต่างตัวตน กับ Johari window

28 ก.ค. 2561 | 17:13 น.
 

 

56566

เมื่อนักจิตวิทยา 2 คน โจเซฟ ลุฟท์ (Joseph Luft) และ แฮร์รี อิงแกรม (Harry Ingram) ได้พัฒนาหน้าต่าง 4 บาน ที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้คนในเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หน้าต่างแห่งตัวตนดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกตามคำแรกของชื่อผู้เสนอโมเดลนี้ว่า Johari window

ตาราง 4 ช่อง เปรียบเสมือนหน้าต่าง 4 บาน ที่แสดงถึงพฤติกรรมของตัวเราที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมีแกนนอน เป็นเรื่องของการรู้จักตนเอง (Known by self) และแกนตั้งเป็นเรื่องของการรู้จักโดยผู้อื่น (Known by others) โดยมีชื่อของแต่ละบาน ดังนี้


กราฟิคบทความอ.สมชัย

หน้าต่างที่ 1 ชื่อ “เปิดกว้าง” (open) ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมอยู่ในช่องหน้าต่างนี้ เป็นคนที่รู้จักตนเองได้ดี รู้ว่าตัวเองมีข้อดี ข้อเสียอะไร หนำซํ้ายังเป็นคนเปิดเผยต่อผู้อื่น คิดอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น ซ่อนเร้นไม่เป็น ดังนั้น จึงจัดอยู่ในประเภทรู้จักตนเอง และคนอื่นก็รู้จักเราดี

ในมุมการสื่อสาร เขาว่าเป็นหน้าต่างที่ดี และควรขยายหน้าต่างนี้ออกไปให้กว้างที่สุด เพราะข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่เป็นตัวเรา จะได้ไปถึงคู่สนทนาหรือคนอื่นๆ ความเข้าใจอันดีทั้งหลายทั้งปวงย่อมเกิดขึ้น

ในมุมทางการเมือง กลับมองตรงข้าม การให้ข่าวสารข้อมูลเปิดเผยตัวตนมากเกินไป ให้คนอื่นเห็นเราแบบกระจ่างชัดในทุกเรื่องอาจไม่เป็นผลดี ข้อมูลที่ให้มากเกินไป (TMI.= To much information) อาจกลายเป็นผลเสีย คนอื่นรู้เรา แต่เราไม่รู้เขา การศึกอาจพ่ายแพ้ได้

หน้าต่างที่ 2 ชื่อ “ซ่อนเร้น” (Hidden) หน้าต่างนี้แสดงถึงตนเองรู้จักตนเองดีพอสมควร แต่จะปิดบังซ่อนเร้นตัวตนที่แท้ของตนไม่ให้ใครอื่นล่วงรู้ เข้าทำนองชีวิตนี้ยังมีเรื่องมากมายให้ใครต่อใครเซอร์ไพรส์

ในมุมทางการเมือง Hidden ดูจะเป็นอะไรที่เดาทางยาก นึกไปถึง ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ พยัคฆ์ระหํ่ามังกรผยองโลก(crouching tiger hidden dragon) หนังจีนรางวัลออสการ์เรื่องดังของผู้กำกับอังลี ที่ผู้มีวิทยายุทธแต่กลับปิดบังซ่อนเร้นอำพรางฝีมือ ก่อนนำออกมาใช้ยามคับขันจำเป็น

แต่ในทางบริหาร Hidden กลับเป็นสิ่งที่เมื่ออีกฝ่ายจับทางได้ ย่อมสร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และนำไปสู่ความล้มเหลวในการทำงานเป็นทีม เนื่องจากความระแวงสงสัยในความไม่จริงใจในการเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายเรา ดังนั้น ในมุมการบริหาร จึงควรลดหน้าต่างนี้ให้เล็กลง ด้วยการสื่อสารในเรื่องของตนเองให้มากขึ้น

หน้าต่างที่ 3 ชื่อ “มืดบอด” (Blind) เหมือนเวลาที่เราขับรถและมองกระจกข้าง จะมีบางจุดที่เป็น Blind spot ที่เราไม่สามารถเห็นรถคันที่อยู่หลังเรา แต่เขาสามารถเห็นเราได้ชัดเจน อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นได้หากเราสุ่มเสี่ยงออกไปในจุดที่เรามองไม่เห็น


1-1

การ “ตาบอด” ย่อมไม่เป็นผลดีทั้งในมุมบริหารและการเมือง นั่นคือการสุ่มเสี่ยงดำเนินการในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของตนแต่ตนเองกลับไม่รับรู้ในสิ่งนั้น ดังนั้นการขยายหน้าต่างนี้ให้กว้างขึ้น คือ ต้องพร้อมเปิดกว้างรับฟัง “ข้อวิจารณ์” หรือความเห็นจากคนรอบข้างถึงตัวตนของเรา อาจเป็นคำไม่รื่นหู อาจทำให้เราเจ็บปวด แต่ก็เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเราที่จะทำให้เรา “ตาสว่าง” ขึ้น

หน้าต่างที่ 4 ชื่อ “ไม่รู้” (Unknown) เป็นโซนของหน้าต่างที่น่ากลัวที่สุด เพราะเราเองก็ยังไม่รู้และคนอื่นก็ไม่รู้ ไม่มีใครเตือนใครได้ อาจเป็นพฤติกรรมที่ลึกอยู่ใต้จิตสำนึกที่ไม่เคยเปิดเผยหรือเป็นที่รับรู้ของใคร ดังนั้นหากมีหน้าต่างบานนี้อยู่ สิ่งที่พึงกระทำคือ การพยายามลดให้เหลือบานเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการรับฟังข้อวิจารณ์จากผู้อื่น เพื่อให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น และเปิดเผยตัวตนต่อคนอื่นให้มากขึ้น เพื่อให้คนอื่นได้รู้จักเรา

หากตัวเองเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แถมยังไม่น้อมรับฟังคำวิจารณ์จากผู้อื่น ไม่สามารถทนฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมใดๆ ได้ หรือ เปิดรับฟังเฉพาะส่วนที่เราฟังแล้วรื่นหูเท่านั้น โอกาสที่จะรู้จักตัวเราเองก็จะน้อยลง ความไม่รู้ก็จะเป็นสภาวะที่ติดตัวเราตลอดไป

เปิดหน้าต่าง “เปิดกว้าง” ให้มากขึ้น

เปิดเผยตนเองเพื่อลดหน้าต่างที่ “ซ่อนเร้น”

น้อมรับฟังข้อวิจารณ์จากชาวบ้าน เพื่อขจัดบานหน้าต่าง “จุดบอด”

ทำทุกวิธีการเพื่อขจัดหน้าต่างบาน “ไม่รู้”

หากทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ เขาว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นการงานหรือครอบครัว จะเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลดี ไม่เชื่อก็ต้องลองดูครับ

......................................
| บทความ : Management tools
| โดย: สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการองค์กรอิสระ /ผู้มีภูมิหลังเป็นนักวิชาการด้านการจัดการ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3387 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-1 ส.ค.2561


e-book-1-503x62