ยุทธศาสตร์ ‘กู้ภัยไทยแลนด์’

28 ก.ค. 2561 | 16:33 น.
26264455 ระยะนี้สังคมไทยใจจดใจจ่ออยู่กับ 2 เรื่องใหญ่ ที่สะเทือนลงไปในก้นบึ้งของจิตใจและความเป็นมนุษย์ เรื่องแรกที่ผ่านมาได้อย่างน่าอัศจรรย์และได้ปลุกพลังของคนในชาติ พลังของคนทั้งโลกขึ้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ ปฏิบัติการกู้ภัยกู้ชีวิต 13 หมูป่าอะคาเดมี่ ที่ติดอยู่ในถํ้าหลวง-ขุนนํ้านางนอน จ.เชียงราย จนกลายเป็นข่าวดังไปทั้งโลก

ที่ลุ้นระทึกกันอยู่ในขณะนี้คือ เหตุการณ์เขื่อนดินเซเปียน-เซนํ้าน้อย ทางตอนใต้ของ สปป.ลาวแตก มวลนํ้าปริมาณมหาศาลไหลบ่าล้นทะลักพรากชีวิตผู้คน ท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทำกิน ต้องอพยพประชาชนนับหมื่นคนที่ประสบภัย จนรัฐบาลลาวต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในหลายพื้นที่

ทั้ง 2 กรณี เป็นเรื่องใหญ่ในการกู้ภัยของมวลมนุษยชาติ ที่ไม่มีเส้นแบ่งของเขตแดนว่าเป็นภารกิจประเทศเขา หน้าที่ของประเทศเรามาขวางกั้นอีกต่อไป
75240-1 รัฐบาลไทยและคนไทยได้ประจักษ์ชัดจากความร่วมมือในเหตุการณ์กู้ชีวิต 13 หมูป่าฯออกจากถํ้าหลวงฯได้ดีว่า เป็นปฏิบัติการที่ถือว่าเป็นสุดยอดของยุทธศาสตร์การประสานงานร่วมกันโดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใดมาเคลือบแฝง นอกจากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพที่ดีที่สุดของโลกมาร่วมแรงร่วมใจกันไม่น้อยกว่า 1,700 คน เพื่อกอบกู้ชีวิตของผู้ที่ติดอยู่ในถํ้าโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยท้อถอย จนโลกทั้งใบยกให้ปฏิบัติการครั้งนั้นเป็นประวัติศาสตร์ความร่วมมือของมุนษยชาติที่ดีที่สุดทุกด้าน ทั้งความทุ่มเท จิตใจ การเสียสละ ตลอดไปถึงการจัดการที่ดีเยี่ยม

ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในการกู้ภัยที่ยอดเยี่ยมที่ชาวโลกต่างชื่นชมไปโดยไม่รู้ตัว รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสอันดีนี้ สร้างยุทธศาสตร์การกู้ภัยพิบัติของประเทศขึ้นมาให้ก้าวขึ้นเป็นเสาหลักในภูมิภาคนี้ เพื่อแสดงศักยภาพของคน ขีดความสามารถของประเทศ แทนที่จะทำเพียงแค่จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือเฉพาะด้านการแพทย์ อาหาร เครื่องมือ เป็นครั้งคราวไป เหมือนที่คุ้นชินกับสิ่งที่ได้กระทำมาในอดีต ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะต่างชาติให้ความเชื่อถือ ศรัทธา
75243 เพียงแต่รัฐบาลไทยต้องแสดงจุดยืนประเทศในการเป็นศูนย์กลางกอบกู้ภัยพิบัติของโลก เป็นศูนย์กลางของจิตอาสาโลก นำองค์ความรู้ แนวทางการจัดการ การวางแผนปฏิบัติการ การประสานงานกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของโลก มาใช้เป็นบรรทัดฐานในการรวมพลังเพื่อช่วยเหลือแบบฉุกเฉินฉับพลันในยามเกิดภัยพิบัติ ที่นับวันจะรุนแรงขึ้นจากภูมิศาสตร์และภาวะวิปริตของสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

อาจมีคนเห็นแย้งว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวอาจไปทับซ้อนกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว สิงคโปร์ และบรูไน ได้ร่วมมือกันตั้งคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติกับอาเซียน (ACDM) ขึ้นมา แต่ควรจะหันมาตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วรูปธรรมในการกู้ภัยนั้นอยู่ที่ไหน มีการปฏิบัติแบบฉับพลัน ทันต่อสถานการณ์หรือไม่ ทำไมไทยไม่ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ไปเป็นนิวเคลียสของโลก

“เวลา” กับ “โอกาส” เป็น 2 อย่างที่ไม่เคยรอใคร ถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้ จะเป็นการยากที่จะได้พบมันอีก
75241-1 ............................
บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับ 3387 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-1 ส.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว