ทำไมประเทศไทย มีแต่โรงแรมเถื่อน

28 ก.ค. 2561 | 12:13 น.
รายงานพิเศษ
โดย : สายฟ้า

จะว่าไปแล้วธุรกิจที่ควรจะได้รับอานิสงค์มากที่สุด จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยปีละกว่า 3 ล้านล้านบาท คือ “ธุรกิจโรงแรม” เพราะในแต่ละปีเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติ ใช้จ่ายมากที่สุดในการเดินทางมาเที่ยวไทย เป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักสูงสุด ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของการใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 25.8% หรือราว 1 ล้านล้านบาททีเดียว

นับวันก็ควรจะเติบโตต่อเนื่อง สัมพันธ์กับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันสร้างรายได้เข้าประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 21.20 % ของจีดีพีรวมของประเทศไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง “กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
hotel
เมื่อโรงแรมหรือที่พักที่ขายกันดาษดื่น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวต่างๆส่วนใหญ่ล้วนเป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 หรือเรียกกันเข้าใจง่ายๆว่า “โรงแรมเถื่อน” ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จากการสำรวจโรงแรมที่มีอยู่ทั่วประเทศพบว่า มีกว่า 2 หมื่นแห่ง โดยครึ่งหนึ่งเป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย สอดคล้องกับการสำรวจของสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ที่ประเมินว่าในช่วงที่ผ่านมาไทยมีโรงแรมที่เปิดให้บริการที่พักรายวัน ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เกินกว่า 1 ล้านห้อง ในจำนวนนี้เป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องราว 5 แสนห้องและที่เหลือทำผิดกฏหมาย

 

การเติบโตของโรงแรมเถื่อน แน่นอนว่า ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวในภาคท่องเที่ยวไทย ที่เติบโตต่อเนื่อง วันนี้เราจะมีนักท่องเที่ยว ใกล้ 37 ล้านคนแล้วในปีนี้ และคาดว่าในปีหน้ามีแนวโน้มจะแตะ 41 ล้านคน จึงไม่แปลกที่คนจะมองโอกาสในการเข้ามาลงทุนสร้างโรงแรมและที่พักเพิ่มมากขึ้น อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม มากมายก็หันมาขายห้องพักแบบรายวัน ซึ่งก็ขายได้ง่ายดายผ่านเว็บไซต์ ช่องทางโซเชียล มีเดียต่างๆ จนถึงออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) ยันแพลตฟอร์มโฮมแชร์ริ่งอย่าง AirBnb เพราะจับอย่างไรก็คงไม่หมด

ถ้าจะอิงตามพ.ร.บ.โรงแรม ตีความชัดเจนว่าที่พักเหล่านี้ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งรัฐไม่ได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่ภาคธุรกิจ ก็มองว่าโรงแรมที่เข้าระบบภาษี กลายเป็นว่าคนทำที่ถูกกฎหมายกลับถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนในแวดวงโรงแรมบ่นว่าทำไมแต่ละปีไทยมีนักท่องเที่ยวมากมาย แต่ทำไมโรงแรมขายห้องได้น้อยลง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทย ที่ระบุว่า โรงแรมผิดกฏหมายที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นเวลากว่า 5 ปีต่อเนื่องกันแล้วที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในโรงแรมที่ถูกกฏหมายทั้งประเทศอยู่ที่ 55-60% สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น
hotel1 การมีโรงแรมเถื่อนกว่าครึ่ง สะท้อนชัดเจนว่า “การสร้างโรงแรมหรือที่พักในไทย ทำง่าย แต่การขอใบอนุญาต เป็นเรื่องยาก” ซึ่งการปวารณายอมเป็นโรงแรมเถื่อน มองได้ 2 แง่ แง่แรก คือ ตั้งใจทำไม่ถูกต้อง เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี กับอีกแง่ คือ อยากจะทำตัวให้ถูก แต่ไม่สามารถทำได้ ที่บอกว่าคนอยากเป็นคนดีทำถูกกฏหมาย แต่ไม่ทำไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับกันว่า เป็นเพราะติดล็อคในเรื่องต่างๆโดยเฉพาะลักษณะประเภทอาคารตามพ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ที่มีการกำหนดไว้สูงมาก ตีโจทย์โดยอิงกับรูปแบบโรงแรมขนาดใหญ่ในอดีต ซึ่งไม่รองรับเทรนด์การลงทุนธุรกิจโรงแรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลายโรงแรมไม่สามารถเข้าระบบได้

ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น กฎหมายระบุว่า อาคารโรงแรม เสา คาน พื้น บันได ต้องก่อสร้างโดยใช้วัสดุถาวร ทนไฟ แต่รีสอร์ทส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่เป็นไม้เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ หรือแม้แต่การกำหนดให้อาคารโรงแรมต้องมีที่ว่างของอาคาร 30 ใน 100 ส่วน แค่นี้ก็ไม่ผ่านแล้ว ซึ่งถือว่าผิด เพราะกฎหมายให้ผิด ไม่ได้เจตนากระทำผิด ยังไม่รวมข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ อาทิกฎหมายว่าด้วยผังเมือง ที่ได้กำหนดเขตพื้นที่โซนสี บางพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ แต่ให้เฉพาะโรงแรมขนาดเล็กเปิดให้บริการโรงแรมได้ในทุกผังสีที่เป็นที่อยู่อาศัย เป็นต้น
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ปัญหาเหล่านี้ภาครัฐทราบดี จึงมีการปลดล็อกในบางเรื่อง โดยออกกฎกระทรวง“เรื่องกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559” ซึ่งอิงจากรูปแบบอาคารของถนนข้าวสารและอัมพวา มากำหนดสเปกของอาคาร ลดสเกล เปิดให้คนนำตึกแถวหรืออาคารประเภทอื่น มาปรับปรุงแก้ไขตามที่กำหนด อาทิ ที่ว่างของอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วน เป็นต้น เพื่อยื่นทำโรงแรมขนาดเล็ก ประเภทที่ 1 (มีบริการห้องพักอย่างเดียว) และประเภทที่2 (มีห้องพักและห้องอาหาร)ได้อย่างถูกต้องได้ภายในช่วง 5 ปี ซึ่งก็ยังเหลืออีกราว 2 ปีจากนี้ งานนี้เชื่อว่าน่าจะดึงคนที่ตั้งใจทำถูกกฏหมายอยู่แล้ว เข้าระบบได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น

แต่เนื้อแท้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพ.ร.บ.โรงแรมฉบับนี้ล้าหลัง สมควรที่กระทรวงมหาดไทยควรจะยกเครื่องใหม่เสียที เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปจากอดีตมาก ที่พักก็มีหลากหลายประเภท ทั้งโฮสเทล โฮมสเตย์ แพที่พัก ไม่ได้เหมือนในอดีต ที่จะมีแต่โรงแรมขนาดใหญ่ 200 ห้องหรือ 500 ห้อง มีที่กว้างๆให้สร้างที่จอดรถตามที่พ.ร.บ.นี้กำหนด ส่วนการจะใช้วิธีการปราบปรามผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ปราบอย่างไรก็ไม่จบ ซึ่งต้องแก้ไขให้ถูกทาง กลุ่มไหนไม่ไหวจริงๆก็ต้องเอาออกไป ปรับปรุงกฏหมายให้สะท้อนกับสภาพสังคมที่เกิดขึ้นจริง

แล้วคนที่ไม่ได้คิดจะทำตัวเองให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นล่ะ? เชื่อขนมกินได้เลยว่าวันนี้ก็ยังคิดแบบนี้อยู่ เลือกจ่ายเงินใต้โต๊ะ ตัดปัญหาแทน หรือเมื่อถูกจับก็ยอมจ่ายค่าปรับไป เพราะบทลงโทษก็ถูกปรับแค่หลักหมื่น แต่ก็ยังสามารถเปิดบริการได้อยู่ ด้วยการอาศัยช่องโหว่ทางกฏหมายในทุกวันนี้

e-book-1-503x62