โรงสีค้านพ.ร.บ.ข้าวห่วงทำการค้าสะดุด-2 สมาคมชาวนาเสียงแตก

06 ส.ค. 2561 | 05:44 น.
สมาคมโรงสีฯโดดขวางร่าง  พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ...ชี้ไม่เป็นธรรม เพิ่มภาระ ไม่ครอบคลุมทุกห่วงโซ่ ซํ้าซ้อนกฎหมายค้าข้าวเดิม จะทำการค้าสะดุดติดขัดได้ เตรียมยื่นหนังสือถึง สนช. คัดค้าน พร้อมขอร่วมเวทีปรับแก้ไข  ขณะ 2 สมาคมชาวนาฯเสียงแตกค้าน-หนุน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ข้าว พ.ศ. .... ให้เหตุผลความจำเป็นว่า ปัจจุบันการทำนากำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ชาวนามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีหนี้สินในอัตราสูง ขาดแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพการทำนาหรือเกษตรกรรมต่อจากบรรพบุรุษ สร้างผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหารจึงสมควรปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้กระบวนการผลิตข้าว ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวในไร่นา การแปรรูป การตลาด และการพัฒนาอาชีพทำนา ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน TP8-3388-A

นายเกรียงศักดิ์  ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยให้ความเห็นถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มองว่าซํ้าซ้อนกับ พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489 ของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ทั้งนี้ในหมวดที่ 2 ของร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... เรื่องการจดทะเบียนและการขึ้นทะเบียน ในมาตรา 19 (5) ที่กล่าวถึงผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ตั้งคำถามว่าเป็นใคร ในวงการก็มีแต่เซอร์เวเยอร์ข้าวสารเพื่อส่งออก ขณะที่โรงสีส่วนใหญ่รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาจะใช้ความชำนาญทางวิชาชีพ 201610281944054-20041019171656 copy

นอกจากนี้ในส่วนมาตรา 20 บุคคลดังต่อไปนี้ต้องมาขึ้นทะเบียนที่กรมการข้าว ได้แก่ (1) เครือข่ายชาวนา (2) แหล่งรวบรวมข้าว (3) โรงสีข้าว  “หยง” หรือนายหน้าค้าข้าว มีหน้าที่เป็นคนกลางซื้อขายและรวบรวมข้าวจากโรงสีให้กับผู้ส่งออก และผู้ส่งออกก็ขาดหายไป ทำไมองค์ประกอบไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุม ทั้งที่ยกคำกล่าวอ้างร่างวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อให้กระบวนการผลิตข้าว ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวในไร่นา การแปรรูป และการตลาด

ส่วนในมาตรา 23 ให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งข้อมูลการส่งออกข้าว รวมถึงปริมาณและคุณภาพข้าวในคลังสินค้าทั้งของภาครัฐและเอกชนให้คณะกรรมการทราบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด มองว่าภาครัฐไม่ให้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือไม่ ถึงกับต้องใช้กฎหมายบังคับ ข้าว

นอกจากนี้กฎหมายยังเพิ่มภาระให้กับโรงสีข้าว ในมาตรา 31  ผู้รับซื้อข้าวเปลือกต้องเก็บหลักฐานการออกใบรับซื้อที่ได้ออกไปแล้วไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบภายในระยะเวลา 5 ปี หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ดูกราฟิกประกอบ) และยังมีอีกหลายมาตราที่จะต้องทำความเข้าใจกับ สนช.ที่ร่างกฎหมายนี้ ขณะนี้กำลังให้สมาชิกรวบรวมประเด็นเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วยและขอให้ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อแสดงข้อกังวลใจต่างๆ (หมดเขตรับฟังความคิดเห็นวันที่ 8 สิงหาคม 2561)

สอดคล้องกับนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า มองว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ตอบโจทย์ ดูเลื่อนลอย จะทำเพื่อชาวนาอย่างไร ปัจจุบันมีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อยู่แล้วจะซํ้าซ้อนหรือไม่ ยังมองไม่ออก

ขณะที่นายระวี รุ่งเรือง  นายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้เพราะมีสัดส่วนคณะกรรมการจากผู้แทนเครือข่ายชาวนาจำนวน 5 คนที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการข้าว นอกจากนี้ยังเอื้อกับศูนย์ข้าวชุมชนให้มีการขยายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีกว่า 2,000 ศูนย์ทั่วประเทศ จะขยายถึง 7,000 ศูนย์ เป็นต้น

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,388 วันที่ 2-4 สิงหาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว