"โตโยต้า"ชี้2แรงบวกส่งออก-ขายในประเทศดันอุตฯยานยนต์ไทยพุ่ง

30 ก.ค. 2561 | 09:31 น.
โตโยต้าปลื้มส่งออกครึ่งปีแรกเติบโต คาดการณ์ทั้งปี 3 แสนคัน พร้อมเผยความคืบหน้าตลาดเวียดนามที่เริ่มส่งไปล็อตแรก ขณะที่ตลาดในประเทศปัจจัยบวกหนุนยอดขาย ตัดสินใจปรับเป้าหมายใหม่ จากเดิม 3 แสน เป็น 3.15 แสนคัน ส่วนตลาดรวมจาก 9 แสนเป็น 9.8 แสนคัน

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนาม เบื้องต้นได้เริ่มส่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน จำนวน 340 คัน และเพิ่งจะผ่านกระบวนการนำเข้าไปจนถึงมือผู้แทนจำหน่ายในวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา เบ็ดเสร็จระยะเวลาที่ตรวจสอบประมาณ  1 เดือน ซึ่งบริษัทยังคงมีแผนที่จะส่งออกไปอีกรอบในเร็วๆนี้

“เรายังไม่ได้ตั้งเป้าหมายสำหรับตลาดเวียดนามว่าปีนี้จะส่งไปทั้งหมดเท่าไร ทั้งนี้เพราะมาตรการนำเข้ารถยนต์ในรูปแบบใหม่ ที่มีกฎระเบียบเงื่อนไขการตรวจสอบที่ใช้เวลามากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังคงจะส่งไปและคาดว่าจำนวนจะเท่าๆกับที่ได้ส่งไปก่อนหน้านั้น”

MP32-3387-A

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้า ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2561 มีจำนวน  145,080 คัน เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว   และเมื่อคิดเป็นมูลค่าพบว่าเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 74,250 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนคิดเป็นมูลค่า 29,875 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกที่ 104,125 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 2561 นั้น คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกของยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาที่ 3 แสนคัน เนื่องจากต้องดูสถานการณ์ตลาดในตะวันออกกลางที่ยอดลดลง

“ตลาดส่งออกยังดี โดยเฉพาะออสเตรเลียและญี่ปุ่น โดยบริษัทได้ส่งรถปิกอัพไปญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้มียอดส่งออกสะสมจนถึงมิถุนายนปีนี้ รวมแล้วทั้งสิ้น 5,400 คัน ซึ่งยอดดังกล่าวเมื่อรวมกับออสเตรเลียและอื่นๆก็สามารถทดแทนกับส่วนที่หายไปของตลาดตะวันออกกลางที่ยังไม่นิ่ง”

นายซึงาตะ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดอาเซียนว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดขายของอาเซียนมีจำนวน 3.36 ล้านคัน เติบโต 6 % และในปี 2561 คาดว่าจะทำได้ 3.5 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับปี 2556 ที่เคยทำได้ถึง 3.59 ล้านคัน โดยปัจจัยที่จะทำให้ตลาดนี้เติบโตก็เป็นผลมาจากยอดขายในประเทศไทย และฟิลิปปินส์ รวมไปถึงมาเลเซียที่เพิ่มสูงขึ้น  เฉพาะตัวเลขครึ่งปีแรกพบว่า มียอดขายแล้วทั้งสิ้น 1.71 ล้านคัน เติบโต 7%

“ยอดขายในไทยเติบ โตมากเช่นเดียวกับมาเลเซีย ที่โตแบบก้าวกระโดด เพราะมีการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 0% อย่างไรก็ตามในฟิลิปปินส์ตัวเลขการขายลดลงเพราะมีการปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ส่วนลาวที่เกิดเหตุการณ์เขื่อนแตก ในเบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะจุดเกิดเหตุอยู่นอกเมืองขณะที่ยอดส่งออกไปลาวอยู่ที่ 8,000-9,000 คัน”

โดยยอดขายของโตโยต้าในประเทศไทยที่เติบโตในครึ่งปีแรกนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 141,989 คัน เพิ่มขึ้น 26.2% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 53,512 คัน เพิ่มขึ้น 18.5% รถเพื่อการพาณิชย์ 88,477 คัน เพิ่มขึ้น 31.4% และรถปิกอัพ ขนาด 1 ตัน (รวมรถปิกอัพดัดแปลงPPV) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 76,758 คัน เพิ่มขึ้น 21.6% e-book-1-503x62

ปัจจัยที่ทำให้ยอดขายของโตโยต้าเพิ่มขึ้น มาจากการเปิดตัวรถหลายรุ่นตั้งแต่ปลายปี จนถึงล่าสุดไม่ว่าจะเป็น ยาริส, ยาริส เอทีฟ, ไฮลักซ์ รีโว่ ร็อคโค และ ซี-เอชอาร์ นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้น

นายซึงาตะกล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทได้มีการปรับเป้าหมายยอดขายจากเดิมที่ตั้งไว้ 3 แสนคัน เป็น 3.15 แสนคัน เพิ่มขึ้น 31.2% จากปีที่ผ่านมารวมไปถึงเป้าหมายของตลาดรถยนต์รวมในประเทศจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 9 แสนคัน ก็เพิ่มเป็น 9.8 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12.4% จากปีที่ผ่านมา

“ภาพรวมการแข่งขันของตลาดรถยนต์ในประเทศ ไทยยังคงเหมือนเช่นเคย โดยตลาดปิกอัพที่เติบโต ทำให้การแข่งขันรุนแรง และทุกค่ายต้องมีแคมเปญออกมาต่อเนื่อง หรือบางค่ายมีการนำรถปิกอัพที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ หรือปรับเป็นขนาดเล็ก ตรงจุดนี้ก็มองว่า มีความต้องการเฉพาะกลุ่มอยู่ แต่สำหรับโตโยต้าประเมินว่าลูกค้าที่ซื้อรถปิกอัพก็เพื่อนำไปใช้งาน นำไปบรรทุกของ ดังนั้นการมีแรงบิดที่ดี และประหยัดนํ้ามัน ก็ตอบโจทย์แล้ว  ส่วนตลาดอีโคคาร์ ก็ต้องมีการทำแคมเปญ เพื่อลดภาระผู้บริโภคที่จะซื้อ และเพื่อให้ตัดสินใจเป็นเจ้าของได้ง่ายขณะที่รถไฮบริดอย่างโตโยต้าซี-เอชอาร์ ก็สามารถทำยอดขายได้ดีเฉลี่ยเดือนละ 2,000 คัน โดยกว่า 70 -80% ลูกค้าเลือกซื้อรุ่นไฮบริด และอีก 20-30% เป็นรุ่นปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจและการยอมรับของลูกค้าที่มีต่อเทคโนโลยี และการประหยัดนํ้ามัน”

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3387 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค. - 1 สิงหาคม 2561