Material Design วิถีการลดขยะ นำกลับมาใช้ใหม่

03 ส.ค. 2561 | 10:18 น.
นวัตกรรมการลดปัญหาขยะ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ถือเป็นความท้าทายของนักคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้การสนับสนุน

ล่าสุด นักออกแบบวัสดุ สจล. ได้นำแนวคิด  “Material Design” ผ่าน 3 นวัตกรรมการออกแบบ เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลก ชุบชีวิตขยะเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่ายิ่งกว่าทอง

Peanut Better เคหะสิ่งทอจากขยะการเกษตร (4)

อาจารย์ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สจล. บอกว่า ขณะนี้หลายอุตสาหกรรมได้เริ่มจัดการของเสีย ด้วยการนำมาออกแบบวัสดุ หรือ Material Design นำวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและบริโภคแล้ว กลับมาผลิตเป็นของใหม่ เช่น โลหะ พลาสติก

นอกจากนี้ ขยะจากอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มขยะที่มีจำนวนมหาศาล แต่แทบไม่ได้นำกลับมาใช้ใหม่เลย

อาจารย์จารุพัชร ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบขยะ ผ่านนวัตกรรม และเทคโนโลยี ให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์
เชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ

Horse Hair Collection : เข็มขัดนิรภัยไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม สู่วัสดุตกแต่งผนังไฮแฟชั่น

ผนังไฮแฟชั่น ผลิตจากเข็มขัดนิรภัยคุณภาพสูงในรถยนต์ ที่ตกมาตรฐานเพียงแค่สีของเข็มขัดนิรภัย ไม่ตรงสเปกกับตัวรถ ความพิเศษของขยะประเภทนี้ คือมีความแข็งแรง ทนทาน และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการทอ สามารถทำให้มีลักษณะเป็นขนฟู งดงามคล้ายขนม้า จากการออกแบบและพัฒนาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการผลิต ออกมาเป็นของวัสดุตกแต่งผนัง ในรูปแบบเดคอเรทีฟวอลล์เปเปอร์ (Decorative Wallpaper) ที่ปัจจุบัน ผลิตและ จำหน่ายจริง ในตลาดงานประดับตกแต่งบ้าน

Peanut Better : กากขยะการเกษตร สู่โฮมเดคอร์สีสันเจ็บ

อีกหนึ่งงานออกแบบที่น่าสนใจ คืองานออกแบบจาก “เปลือกถั่วลิสง” ของ “รมิตา เสน่ห์ค่า” นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม วิชาการออกแบบสิ่งทอ สจล. ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ขยะจากอุตสาหกรรมการเกษตร อย่าง “เปลือกถั่วลิสง” ที่นำมาขึ้นรูป อัดแข็งแบบแผ่น พร้อมย้อมด้วยสีธรรมชาติเป็นลายทางเรขาคณิต กลายมาเป็นเคหะสิ่งทอ ที่สามารถนำไปใช้ตกแต่งบ้าน ผนัง หรือเป็นแผ่นประดับตกแต่งโต๊ะอาหาร (Tableware) สีสันสวยงาม ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการเป็นเพียงปุ๋ยทางการเกษตร

Peanut Better เคหะสิ่งทอจากขยะการเกษตร (2)

อีกหนึ่งผลงานของ “อรวรรณ กอเสรีกุล” นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ สจล. กับ Meshography : กระเป๋ามุ้งลวดปักลาย ที่นำวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้างอย่าง “มุ้งลวด” มาออกแบบเป็นสิ่งทอแนวใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการปักฟูแบบNeedle Punching ที่คิดค้นและทดลองใหม่ เพื่อนำมาใช้กับมุ้งลวดโดยเฉพาะ กระเป๋าได้รับการออกแบบเป็นลวดลาย 3 มิติ นุ่มฟู สะท้อนให้เห็นถึงการนำวัสดุ และเทคโนโลยี ที่บางครั้งมักถูกนำไปใช้แบบซํ้าๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ เพียงอย่างเดียว มาพัฒนาผสมผสานไปกับงานออกแบบ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

สจล. ได้เริ่มต้นโมเดลการเรียนการสอน ที่บูรณาการศาสตร์การออกแบบ เข้าสู่หลักสูตรของนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อปลูกฝังแนวคิดการเป็นนักออกแบบรับใช้สังคม ให้ผู้เรียนสามารถออกแบบ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ ควบคู่นวัตกรรม สู่การเป็นผู้ประกอบการหรือนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต

หน้า 26-27 ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว