ผู้นำ SD ทีมสิงห์เอสเตท ‘ทำ’ ต้อง ‘สำเร็จ’ ไม่ใช่แค่ ‘เสร็จ’

03 ส.ค. 2561 | 10:15 น.
เรื่องของ Sustainable Development หรือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เป็นสิ่งที่องค์กรยุคใหม่พูดกันจนเป็น

ที่คุ้นหู แต่สำหรับคนทำงานด้านนี้จริงๆ ต้องเป็นคนที่มีความคิดอย่างไร ทำอย่างไร ผลงานที่ออกมาจึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยไม่ใช่แค่ความยั่งยืนขององค์กร แต่หมายรวมถึงความยั่งยืนของชุมชน สังคม และโลก ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเรื่องนี้ แม่ทัพใหญ่ “สิงห์ เอสเตท” จึงได้ตั้งทีม Sustainable Development Branding ขึ้นมาทำงาน โดยการนำทีมของ “อาลาดีน ปากบารา” Sustainable Development Branding  Manager, Crossroads - Maldives

“อาลาดีน” เคยทำงานอุทยานแห่งชาติมาก่อน และระหว่างนั้นได้ร่วมงานกับสิงห์เอสเตทที่เข้ามาทำกิจกรรมฟื้นฟูและสนับสนุนอุทยานฯ และถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมงานกับสิงห์เอสเตทตอนเริ่มพีพีโมเดล พร้อมภารกิจการพัฒนาโครงการ “ครอสโร้ดส์” มัลดีฟส์สู่การเป็นโปรเจ็กต์เพื่อสังคมให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน (Sustainability Development Strategy :SD) ดูแลธุรกิจทั้งหมดให้ดี โดยทำให้เรื่อง SD อยู่ในธุรกิจห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Business Value Chain) ซึ่งโปรเจ็กมัลดีฟส์นี้เป็นหนึ่งโปรเจ็กที่สิงห์เอสเตทต้องการทำให้ดีที่สุด และจะเป็นหนึ่งในต้นแบบโครงการที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนของสิงห์เอสเตท

_MG_7438

“ผมเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จริงๆ ก็คิดไว้แล้วว่าอีก 2 ปีจะลาออก ตอนที่หัวหน้าเกษียณพอดี แต่ตอนเด็กๆ ที่ตั้งใจเรียนเกี่ยวกับทะเล ผมเคยคิดว่า ถ้ามีงานฟื้นฟูปะการังก็อยากจะทำ และที่มัลดีฟส์มันทำได้นะ นั่นคือ ลำดับแรก ประจวบเหมาะกับ อ.ธรณ์ (ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) มาบอกว่า มีงานลักษณะนี้ที่มัลดีฟส์มันก็แว่บเข้ามาในหัว กับสิ่งที่เราคิดไว้ตั้งแต่ตอนนั้น”

สิ่งที่ “อาลาดิน” รับถ่ายทอดมาจากผู้นำองค์กร คือ เป้าหมาย 4 S ได้แก่  Smart M&A ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มและปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์, Strategic Move ที่ทำอยู่คือ สร้างสินทรัพย์ของการรีไซเคิล, String Growth สร้างธุรกิจโรงแรม ที่ทำให้มีสินทรัพย์และรายได้เข้าสู่องค์กรต่อเนื่อง และ Sustainable Development ซึ่งเป็นเรื่องของความยั่งยืนที่เขามีหน้าที่เข้ามารับผิดชอบโดยตรง

“ทุกธุรกิจต้องคิดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรก เช่น เราต้องดูว่าซื้อตึกมาแล้ว มันพร้อมที่จะมาปรับให้เป็นไปตามกลยุทธ์เราไหม ถ้าเราทำไม่ได้ เราอาจจะไม่เอา”

“อาลาดิน” บอกว่า Signature ของเรา คือ SDGs14 ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs : Sustainable Development Goals ข้อ 14 ที่พูดถึงการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ข้อ แต่ส่วนอื่นๆ ก็ไม่ได้ทิ้ง และเดินหน้าทำเช่นกัน โดยเฉพาะการสร้างเมืองที่ดีอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ สร้างยังไงให้ชีวิตมันดี จากพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่

หนุ่ม SD คนนี้บอกว่า การทำงานที่เมืองไทย กับที่มัลดีฟส์ไม่แตกต่างกันมาก พื้นที่ตรงนั้นก็เป็นมุสลิมวัฒนธรรมจึงไม่แตกต่างกัน สิ่งที่อยากทำคือการทำเพื่อสังคมจริงๆ จากเมื่อก่อนได้ทำงานกับเอกชนที่เขาทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ บางกิจกรรมเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่...ถ้าจะทำมันต้องเป็นเรียลซีเอสอาร์ เขาอยู่ได้ เราอยู่ได้ สังคมได้ประโยชน์ สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ ธุรกิจได้ประโยชน์ ชุมชนรอบข้างได้ประโยชน์

_MG_7460

“พอไปเป็นเอสดีแมเนเจอร์ที่นั่น สิ่งที่ได้ทำ คือ ตอนนี้อยู่ในช่วงการก่อสร้าง จะทำอย่างไรให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด คนที่มาทำงานกับเรา มีความเป็นอยู่ดี ได้กินดี เขาได้ปฏิบัติ ศาสนกิจของเขาไหม เขาแฮปปี้ ไหม เขาทำแล้วรู้สึกปลอดภัยไหม เราต้องการให้เขาทำงานอย่างแฮปปี้มีความสุข เพื่อให้เขาได้ทำงานให้ดี ทำงานของเราได้สวย...ผมก็เหมือนตัวแทนของแบรนด์ ที่ต้องเข้าไปดูแลทุกอย่าง”

หนุ่ม SD คนนี้ ไม่ทำเพียงแค่ในโครงการ แต่ต้องมองรอบๆ พื้นที่โครงการ และมองออกไปในมุมกว้าง ที่สร้างให้เกิดประโยชน์ต่อคนที่นั่นจริงๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกแฮปปี้ที่สิงห์เอสเตทมาสร้างและพัฒนาโครงการที่มัลดีฟส์

ความท้าทายด้านความยั่งยืนในการทำโปรเจ็กต์ใหญ่ที่มัลดีฟส์ เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่แล้ว นั่นคือ สิ่งที่ “อาลาดิน” รับรู้ และพร้อมที่จะดูแล ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ดูที่ผลกระทบจากการก่อสร้าง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ หลังจากนั้นก็เข้าไปแนะนำ และป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น มันเป็นสิ่งที่เขาสามารถไปตอบกับคนในชุมชนได้ว่า เขาทำอะไรบ้าง ประสานงานทั้งภาครัฐ ทีมงานส่วนกลาง โรงเรียน กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงการประมง และผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ หลังจากรับฟังเขาเหล่านั้นแล้ว ก็ต้องสื่อสารกลับว่า สิงห์เอสเตทมาทำให้ได้บ้าง จัดการอะไรให้ได้บ้าง เพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงๆ

ช่วงนี้ยังเป็นช่วงของการก่อสร้าง เขาจึงให้ความสำคัญกับผลกระทบมากเป็นพิเศษ พร้อมๆ กับการดูแลพนักงาน ในอนาคตเมื่อโครงการเริ่มเสร็จ ก็จะมีเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะด้านโอเปอเรชันเข้ามาเพิ่มเติม ขอบข่ายความรับผิดชอบและการดูแลก็จะขยายเพิ่มขึ้น มีเรื่องอื่นๆ ตามมา

“อาลาดิน” บอกอีกว่า มัลดีฟส์ เป็น Country of The Sea แต่ประชากรของเขารู้เรื่องทะเลน้อยมาก สิ่งที่เขาต้องการคือ บุคลากรทางด้านทะเล ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ความรู้กับพวกเขา นี่จึงเป็นโอกาสที่สิงห์เอสเตทได้เข้าไปสร้าง ศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) ที่จะให้ความรู้และฝึกอบรมเรื่องเกี่ยวกับทะเลให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจทะเลมากยิ่งขึ้น

_MG_6817

เมื่อถาม “อาลาดิน” ว่า คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น SD ควรมีคุณสมบัติอย่างไร เขาตอบชัดเจนเลยว่า...เรื่องของใจที่อยากทำจริงๆ ต้องเป็นคนที่คิดถึงคนอื่น และอีกเรื่อง ความอดทน เพราะงานบางอย่างเห็นผลช้า ต้องมีความอึด อดทน และทำ พอมาอยู่ในระบบบริษัทมันก็มีความยุ่งของมัน เราไม่มีอำนาจไปสั่งเขา เราต้องอดทน และพยายามดึงทุกคนมาร่วม

หนุ่ม SD คนนี้ทิ้งท้ายว่า เราต้องมีความฝันที่อยากจะทำในสิ่งเหล่านี้ เด็กๆ เราเป็นชาวประมง ทำให้เราอยากเรียนเกี่ยวกับทะเล พอเรียนปั๊บ บ้านเรามีอุทยานเราก็อยากทำงานใกล้บ้าน ป้องกันทรัพยากรในบ้านของตัวเอง แต่พอเราทำงานอุทยาน เราก็อยากจะป้องกันตรงนี้ ถ้าเราไม่ลดละกับสิ่งที่เราฝันไว้ โลกจะเปิดทางให้เราเสมอ อยู่ที่เราจะไปทางไหน และมัลดีฟส์ คือสิ่งที่ “อาลาดินบอกว่า เขาสามารถทำได้ และ “ต้องทำสิ่งที่ฝันไว้ให้สำเร็จ และไม่ใช่
แค่เสร็จ”

หน้า 26-27 ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว