โรงพยาบาลพญาไท 2 ผนึกพันธมิตร นำความรู้การแพทย์ส่งต่อประชาชน

28 ก.ค. 2561 | 04:14 น.
จากพื้นฐานความรู้ด้านการแพทย์ของบุคลากรในโรงพยาบาลพญาไท 2 “อัฐ ทองแตง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ได้เล็งเห็นถึงการต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไป และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการคืนกลับสู่สังคม ทั้งในรูปแบบของ Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งหมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร และรูปแบบของ CSV : Creating Shared Value หรือ การดำเนินธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า โดยล่าสุดได้ทำ
โครงการ Alarm Center กู้ชีวิตคืนชีพนำความรู้สู่ประชาชน โดยเป็นการให้ความรู้พื้นฐานในการช่วยชีวิต และการปฐมพยาบาลได้อย่างถูกวิธี

ซีอีโอ เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล มองว่า จากพื้นฐาน ความถนัดของโรงพยาบาลที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือความรู้เบื้องต้นทางการแพทย์ ที่จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกวิธีก่อนถึงมือแพทย์ ซึ่งการส่งมอบความรู้ของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ไม่ได้มีเพียงแค่โครงการ Alarm Center แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ทำเพื่อสังคม

_MG_6745

แนวทางการดำเนินโครงการเพื่อสังคมของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล คือ การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งจะมีความถนัดในด้านอื่นๆ ที่แตกต่างจากโรงพยาบาล ความร่วมมือระดับองค์กร จะทำให้งานโครงการเปล่านั้นขยายผลได้ดีและเร็ว และสิ่งที่ซีอีโอคนนี้ให้ความสำคัญมากคือ ความคงอยู่ของโครงการ และความต่อเนื่องของโครงการ โครงการที่สร้างขึ้นควรมีอิมแพ็คที่เกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก เพื่อพัฒนาให้สังคมโดยรวมดีขึ้น

“การที่จะหล่อหลอมให้คนในองค์กรมีจิตสำนึกด้านสังคม ผู้บริหารต้องทำด้วย ผมมองว่า ซีเอสอาร์มันต้องมาจากความถนัดของพวกเรา และไม่ได้มองว่าจะทำเป็นเคพีไอ ผมเคยฟังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9
ที่ว่า เราเจออะไรที่เราช่วยได้ ก็ทำไปก่อน ถ้ามันดี คนชอบเราก็ขยายผล ถ้าคนไม่ชอบ เราก็ไปหาอย่างอื่นทำต่อ”

_MG_7086

“นายแพทย์อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 บอกว่า งานด้านซีเอสอาร์หรือซีเอสวีของโรงพยาบาล เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ทั้งในรูปแบบของจิตอาสาให้ความช่วยเหลือประชาชน และชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน นำทีมแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์จำเป็นออกไปช่วยเหลือประชาชน หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็นโครงการต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กร และในโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลจะมีการระดมทุนผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัดคอนเสิร์ตการกุศล การจำหน่ายภาพวาดของผู้มีชื่อเสียง และอีกส่วนหนึ่งคือเงินจากโรงพยาบาลที่สนับสนุนประมาณเดือนละ 6-7 ล้านบาท

ส่วนโครงการ Alarm Center นี้ โรงพยาบาลต้องการร่วมสนับสนุนองค์กรที่ดูแลคนจำนวนมาก อาทิ ตำรวจท่องเที่ยว โรงเรียนต่างๆ องค์กรขนาดใหญ่ โดยต่อไปจะพัฒนาเป็นหลักสูตรความรู้เบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยขั้นต้น การปฏิบัติตัวขั้นต้น การขนย้าย และจะพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะกลุ่ม เช่น โรงงาน โรงเรียน โดยตั้งเป้าว่า ปีนี้จะมีองค์กรเข้าร่วมประมาณ 10 องค์กร หลังจากนั้นจะขยายผลต่อไปเรื่อยๆ โดยโรงพยาบาลได้ลงทุนไปกว่า 10 ล้านบาท ในการสร้างศูนย์อบรม ที่จะใช้เทรนพนักงานของโรงพยาบาลและบุคคลภายนอกที่สนใจ ซึ่งศูนย์อบรมนี้จะเสร็จเฟสแรกภายในปี 2561 และเสร็จทั้งหมดภายในปี 2562

หน้า 28 ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,388 วันที่ 2 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว