ผ่าโรดแมป 1.48 แสนล้าน ขยาย "สนามบินสุวรรณภูมิ"

27 ก.ค. 2561 | 10:34 น.
010861-0843
436089


จากจำนวนผู้โดยสารที่ขยายตัวต่อเนื่องสัมพันธ์กับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย นี่เองจึงทำให้แผนขยายศักยภาพของ "สนามบินสุวรรณภูมิ" ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต้องปรับแผนให้ทันกับสถานการณ์และทำให้เกิดประโยชน์การใช้พื้นที่สูงสุด


ปรับแผนลงทุนเต็มพื้นที่
ดังนั้น แผนแม่บทการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ในอดีตที่วางไว้ว่า แผนพัฒนาสูงสุดเต็มพื้นที่ (อัลติเมต เฟส) จะขยายการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 120 ล้านคน โดยมีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร อาคารเทียบเครื่องบิน (แซตเทลไลต์) 2 อาคาร และมี 4 รันเวย์ จึงมีการปรับใหม่ เน้นการพัฒนาเต็มพื้นที่สนามบิน 2 หมื่นไร่ เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 150 ล้านคน

นี่เอง ทอท. จึงมีแผนการสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอีก 1 อาคาร เบ็ดเสร็จรวมแล้วสนามบินแห่งนี้เมื่อพัฒนาเต็มที่จะมีอาคารผู้โดยสาร 3 อาคาร ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินมี 2อาคาร และมี 4 รันเวย์ ตามแผนเดิม (ตารางประกอบ) ภายใต้การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นรวม 1.48 แสนล้านบาท (สำหรับการขยายเฟส 2-4) ส่วนเฟส 5 ซึ่งเป็นอัลติเมต เฟส ยังแค่กรอบการลงทุนกว้าง ๆ อยู่


MP22-3387-B

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท. อยู่ระหว่างลงทุนในเฟส 2 โดย ทอท. สามารถลดวงเงินลงทุนไปได้ร่วม 1 หมื่นล้านบาท จากการปรับเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดราคากลาง ซึ่งคาดว่า โครงการเฟส 2 จะแล้วเสร็จราวเดือน ก.พ. 2563 พร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2563 และยังอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเฟส 3 ต่อเนื่อง ทันทีที่ ครม. อนุมัติ โดยขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างประกวดราคาจ้างออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า พร้อมการก่อสร้างรันเวย์ 3 เพื่อให้แล้วเสร็จปลายปี 2564 รวมถึงการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับรันเวย์เส้นที่ 3 และ 4 ไว้รอรับการลงทุนในเฟส 4 ที่จะมีการตั้งงบลงทุนในปี 2564 เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569


436088

เฟส 2 เปิดปลายปี 63
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของการขยายเฟส 2 ภาพรวมในการก่อสร้าง ณ วันที่ 7 ก.ค. 2561 มีความคืบหน้าไปกว่า 30.62% แล้ว โดยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2, B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคาร และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) ที่ดำเนินการโดย บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีความก้าวหน้ากว่า 83.01%

ทำให้ในขณะนี้ ทางกลุ่ม PCS Joint Venture ที่ประกอบไปด้วย บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่นฯ ก็อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ต่อไปยังชั้นที่ 2-4 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2562 ทั้งนี้ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 มีพื้นที่ทั้งหมด 2.7 แสนตารางเมตร 28 หลุมจอด โดยรองรับเครื่องบินแอร์บัสเอ380 ได้ 8 หลุมจอด


436091

ขณะที่ การเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสาร รวมถึงสัมภาระ จากอาคารผู้โดยสาร มายังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังนี้ จะใช้ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ที่จะวิ่งอยู่ใต้อุโมงค์ด้านทิศใต้ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างความยาวกว่า 1 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้าล้อยางของบริษัทซีเมนส์ วิ่งได้ 80 กิโล เมตรต่อชั่วโมง มี 6 ขบวน รองรับผู้โดยสารไปกลับราว 6 พันคนต่อชั่วโมง สำหรับงานซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) ขาเข้า ที่ดำเนินการโดยล็อกซเล่ย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2563

ส่วนงานที่ยังเหลือประมูลสำหรับเฟส 2 คือ งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ที่ขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างการยื่นเสนอไปยังสภาพัฒน์ เพื่อขอปรับการลงทุน โดยกลับด้านมาขยายในด้านทิศตะวันตกแทน แล้วแผนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก จะนำไปทำในเฟส 4 แทน เนื่องจากจะทำให้ ทอท. ไม่ต้องมีการปิดพื้นที่บางส่วนของอาคารผู้โดยสารที่มีการใช้บริการมากอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีงานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก ที่คาดว่าจะประกวดราคาได้ในเดือน ต.ค. นี้ และงานซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) ขาออก ที่จะประกวดราคาได้ในเดือน ส.ค. นี้


436090
เล็งกู้เงิน 4 หมื่นล้าน ปี 64
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยว่า ในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 จากการลงทุนในเฟส 2 และ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะทำให้สนามบินมีความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 90 ล้านคน จากนั้นก็จะโฟกัสต่อไปถึงการขยายเฟส 4 ซึ่งนอกจากการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท. ยังอยู่ระหว่างขยายอีกหลายสนามบิน อาทิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ทำให้เรามองว่า ทอท. อาจจะช็อตเงินบ้างในช่วงปี 2564 จึงอาจต้องกู้เงินในประเทศราวกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะปัจจุบัน ทอท. มีกระแสเงินสดอยู่ 6.4 หมื่นล้านบาท และมีอิบิตดาต่อปีราว 3 หมื่นล้านบาท

นี่คือภาพรวมการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในสนามบินสุวรรณภูมิ

..................
รายงานพิเศษ โดย ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3387 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค. - 1 สิงหาคม 2561 หน้า 22




ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว