‘ดีป้า’สร้างอาณาจักรใหม่ เนรมิต5แยกลาดพร้าวศูนย์รวมสตาร์ตอัพไทย-เทศ

27 ก.ค. 2561 | 07:34 น.
“ดีป้า” เตรียมย้ายบ้านจากศูนย์ราชการ ปลายปีนี้ปักธงที่ห้าแยกลาดพร้าว เช่าพื้นที่ 7 ชั้น เป็น Co-working space แหล่งรวมสตาร์ตอัพพันธุ์ไทยและเทศ แลกเปลี่ยนความรู้ ประกาศขอเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนปีละ 1.5 แสนบาท ชี้เฟซบุ๊ก-กูเกิล-หัวเว่ย-เอไอเอส และ ทรู ให้การสนับสนุน ผอ-1135 (Medium)

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ ดีป้า ได้เช่าพื้นที่จำนวน 7,000 ตารางเมตร บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินห้าแยกลาดพร้าว ฝั่งตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์ เพื่อเช่าพื้นที่จำนวน 7 ชั้น โดยภายในสิ้นปีนี้จะย้ายสำนักงานจากศูนย์ราชการ ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี ถ.แจ้งวัฒนะ ไปยังสำนักงานแห่งใหม่ ทั้งนี้กระบวนการต่างๆ ผ่านตามกฎระเบียบของสำนักงบประมาณทั้งหมดแล้ว

ส่วนค่าเช่าในแต่ละปีนั้นนอกจากได้การสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วจะขอสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกรายละ 1.5 แสนบาทต่อปีจำนวน 100 รายก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งมีภาคเอกชนให้การสนับสนุนแล้ว อาทิเช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล, หัวเว่ย, เอไอเอส และ กลุ่มทรู เพราะรูปแบบนี้เหมือนกับในต่างประเทศสถาบันชื่อดังขอรับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเช่นเดียวกัน

“เหตุผลที่่ต้องขอเงินบริจาคภาคเอกชนเพราะภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเดียวไม่เพียงพอต้องขอสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วย เนื่องจากงบประมาณของดีป้า ในแต่ละปีรัฐให้การสนับสนุนปีละ 100 ล้านบาท วงเงินก้อนนี้ต้องจัดสรรในโครงการสมาร์ทซิตี, ค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับพนักงานจำนวน 130 คน และ สวัสดิการอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 80 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ดีป้า จึงจำเป็นต้องขอเงินบริจาคกับภาคเอกชนด้วย และจะจัดทำฮอลล์ ออฟ เฟม ด้วยการขึ้นแบรนด์เพื่อขอบคุณอีกด้วย”

นายณัฐพล ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับพื้นที่ชั้นที่ 1 เป็นจุดรับบริการสมาร์ทวีซ่า (Smart Visa) รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเพื่อดึงดูด บุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนใน 10 S-Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อาหารแห่งอนาคต, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร

ส่วนชั้นที่ 2 เป็นมินิดิจิตอลแล็บ เกี่ยวกับ I0T (Internet Of Things) โดย เอไอเอส, เฟซบุ๊ก และ กูเกิล ได้สนับสนุนอุปกรณ์แล้วในขณะนี้ ส่วนชั้นที่ 3 เป็น Co-working Space (โค เวิร์กกิ้ง สเปซ : พื้นที่การทำงานโดยไม่จำกัดสังกัด) ให้กับสตาร์ตอัพไทยและเทศ เข้ามาใช้พื้นที่ ,ชั้นที่ 4-5 เปิดเสรีเป็นลาน Pitching (การนำเสนอไอเดียทางธุรกิจ) ส่วนชั้นที่ 6 เป็นล็อบบี้ของโรงแรมและห้องประชุมสัมมนา และชั้นสุดท้ายเป็นช้้นของคณะผู้บริหาร

“เราอยากให้ที่แห่งใหม่ของ ดีป้า เป็นศูนย์กลางของสตาร์ตอัพทั้งไทย และต่างประเทศ มาทำงานและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ได้โพสต์ภาพต้นแบบบนเฟซบุ๊ก บรรดาสตาร์ตอัพก็ให้การสนับสนุน เมื่อรวมกันทำงานมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล คือ พลังประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล”

นอกจากนี้ นายณัฐพล ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสร้างอาคารสถาบันไอโอที ตั้งอยู่ในบริเวณดิจิทัล พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร ปัจจุบันสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบในการพัฒนาโครงการสมาร์ท อีอีซี ซึ่งเป็นงบผูกพันจำนวน 1,500 ล้านบาท โดยงบประมาณจะถูกจัดสรรให้ภายในปีนี้ โดยโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 แต่ ดีป้า ต้องการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563

สำหรับขั้นตอนในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ออกแบบอาคาร โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อเป็นพื้นที่ให้บริการด้านดิจิตอลครบวงจรโดยเน้นหลักการบูรณาการร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนด้านดิจิตอลทั้งรายใหญ่และสตาร์ต อัพ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านไอโอที แสดงความจำนงร่วมลงทุนหลายบริษัท เช่น ผู้ประกอบการญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

e-book-1-503x62

..............................................................................................................

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,387 ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2561