ทางออกนอกตำรา : โลกทั้งใบยอมให้ "ทรัมป์" เปิด "สงครามค่าเงิน"

26 ก.ค. 2561 | 14:39 น.
526859659 ขณะที่คนในบ้านเรากำลังเพลิดเพลินข้อมูลที่ “นักเลงคีย์บอร์ด”ปั่นยอด “ถ้ำหลวง-อีลอน มัสก์-หน่วยซีล-หมูป่าอะคาเดมี” กันอย่างจำเริญใจอย่างมีความสุข ในการรวมพลังของคนในชาติและอารยประเทศ...

แกนของโลก ด้านเศรษฐกิจกำลังเอียงกะเท่เร่...แปรเปลี่ยนจาก “สงครามการค้า” ไปสู่สมรภูมิ “สงครามค่าเงิน” เรียบร้อยโรงเรียน “โดนัลด์ ทรัมป์” โดยที่คนไทยทั้งชาติไม่รู้อิโหน่อิเหน่

5 เดือนที่ผ่านมา โลกทั้งใบให้ความสนใจกับเรื่อง สงครามการค้าโลก “Trade war” เมื่อ Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สั่งเพิ่มภาษีการนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียมจากสหภาพยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน จนนักวิเคราะห์กังวลว่า สงครามการค้าจะลุกลามออกไปทั่วโลก ซึ่งจะกระทบต่อระบบการเงิน ตลาดหุ้น และการค้าโลก

นักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford เคยออกมาระบุว่า ภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ หากทั้งทางสหรัฐฯ จีน และยุโรป มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า จะส่งผลให้ภาษีการนำเข้าระดับโลกเพิ่มขึ้น 4% Oxford คาดว่าในแต่ละวัน ภาษีนำเข้าจะถูกเก็บประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 0.3% ของการค้าโลก และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”
GettyImages_984422858.0 หากสงครามการค้าโลกที่สหรัฐฯเปิดศึกกับจีน-สหภาพยุโรป-เม็กซิโก-แคนาดา ยังบานปลาย น่าจะไปลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 0.4% และลดมูลค่าการค้าในโลกลงด้วย

แต่ถึงบัดนาว สงครามการค้าโลกได้บานปลายกลายเป็นสงครามค่าเงิน(Currency War) ไปแล้ว ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือน ล่าสุดอ่อนค่าลงมาแล้ว 7.2% โดยเงินหยวนลงมาวิ่งเล่นให้”โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ช้ำใจในระดับ 6.8 หยวนต่อดอลลาร์ในตลาด Onshore และไปยืนยิ้มให้นักลงทุนได้ชุ่มใจที่ระดับ 6.9 หยวนต่อดอลลาร์ในตลาด Offshore

ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบ 10 สกุลเงินในตะกร้าเงินที่ธนาคารกลางของโลกถือครองอยู่มากกว่า 5% เข้าไปแล้ว
a2bff0b9ab27291b1305b90c24923ccc ในทางหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาประกาศส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Quantitative Tightening) เพื่อปรับลดปริมาณเงินและดูดซับเม็ดเงินจากมาตรการ QE กลับมาในมือ

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความที่ระบุว่า การที่จีน EU และประเทศอื่นๆ ได้ทำการปั่นค่าเงิน และปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สหรัฐฯกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และดอลลาร์กำลังแข็งค่าขึ้นในแต่ละวัน ทำให้สหรัฐฯสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความวิจารณ์เฟดอีกว่า สหรัฐฯ ไม่ควรถูกทำโทษเพราะเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี การขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่รัฐบาลได้ทำ และเราควรได้รับโอกาสในการรับสิ่งที่สูญเสียไปจากการที่ประเทศอื่นปั่นค่าเงิน และทำข้อตกลงที่เอาเปรียบทางการค้า เป็นปฏิกิริยา “การแทรกแซงด้วยวาจา” ของผู้นำโลกครั้งสำคัญ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC วิจารณ์การทำงานของเฟดว่า การดำเนินนโยบายการเงินอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แม้ว่า สตีเวน มนูชิน รมว.คลัง สหรัฐฯ ประกาศว่า “No Chance For Currency War-ไม่มีโอกาสสำหรับสงครามค่าเงิน” ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G20 ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ ตุรกี สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
Cargill-Cost-of-international-trade-war-too-high_wrbm_large ทว่า คำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ส่งผลให้ตลาดการเงินที่อ่อนไหวอยู่แล้วมีความเปราะบางและอ่อนไหวมากขึ้น ในขณะที่การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 มีการถกกันหนักในเรื่องของสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก ที่อาจบานปลายเป็นสงครามค่าเงินไปในเร็ววัน

เมื่อปิดฉากลงของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G20 ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยเตือนว่า สงครามการค้าและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงการใช้มาตรการที่เข้มงวดจริงจังในการป้องกันการลุกลามของการกีดกันการค้า และสงครามค่าเงินแม้แต่น้อย

ผู้นำสหรัฐฯยังได้ออกมาประกาศย้ำว่า สหรัฐฯจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่ารัฐมนตรีคลังสหรัฐฯกล่าวว่า จะไม่ดำเนินการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนอย่างนั้น ถึงแม้สมควรจะดำเนินการก็ตาม แต่ต้องการจะให้มีการค้าเสรีและการค้าที่เป็นธรรม และพร้อมที่จะเจรจากับประเทศคู่ค้าทั้งจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น บนหลักการเดียวกัน

ทว่า ประเด็นที่ยังคงลอยนวลในห้วงตลาดเสรีมาต่อเนื่องหลังจากนี้ไปคือ มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 500,000  ล้านดอลลาร์ และความอ่อนไหวของตลาดการเงิน จากกระแสที่ทรัมป์กล่าวหาจีนและยุโรปปั่นค่าเงินให้อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

สงครามค่าเงินกำลังเริ่มต้นขึ้น หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น และวิพากษ์การอ่อนค่าของเงินหยวน ขณะที่ทางการจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างเปิดเผย โดยใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือในการตอบโต้การค้ากับสหรัฐฯ
trade-war-final ที่ฮือฮาอีกเรื่องคือการที่ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ลงนามในข้อตกลงการค้าครั้งประวัติศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแผนที่ทางเศรษฐกิจของโลกยุคสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีขึ้นหลายด้าน ทั้งสองฝ่าย “ส่งสัญญาณที่ชัดเจน” ในการต่อต้าน “การกีดกันการค้า” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561

ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA)  จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก สำหรับการค้าที่มากถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก และมีประชากรกว่า 600 ล้านคน เริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2019 ข้อตกลง “เมกะเทรด” นี้ จะมีผลถึง 40% ของการค้าโลก  เมื่อพิจารณาจากการที่สหภาพยุโรปส่งออกสินค้าและบริการไปญี่ปุ่นกว่า 100,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี

หันมาไทยแลนด์แดนสยาม แม้หลายคนจะยังมึน แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาส่งสัญญาณชัดว่า ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักธุรกิจทั้งหลายต้องจับตาสงครามค่าเงินรอบใหม่ที่จะรุนแรงขึ้น โดยเงินบาทจะอยู่ในกรอบ 33.10-33.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากค่าเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนมาแล้ว โดยอ่อนตามทิศทางค่าเงินหยวน

วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกลัวในขณะนี้คือการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็น Tail Risk มากกว่าการดูดเงินกลับ และสิ่งที่ไม่แน่นอนอย่างมากคือ Trade War อาจลุกลามไปสู่ Competitive Devaluation Currency หรือการลดค่าเงินของสกุลตัวเองเพื่อการแข่งขันทางการค้า เห็นได้จากค่าเงินหยวนของจีนที่อ่อนค่าลงจนทำให้ตลาดเงินผันผวน ล่าสุดมีการลดเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ของจีนถือครองลงซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการการลดค่าเงิน

ท่านทั้งหลายโปรดรับมือกับมันให้ดี อย่าลืมค่าเงินมีผลสำคัญต่อปริมาณเงิน ลองคิดดูไทยมีการค้ากับโลกเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าคิดค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาจาก 30 บาทต่อดอลลาร์มายืนที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ หมายถึงจะมีพ่อค้าผู้ส่งออกที่ทำมาหาได้เอาเงินดอลลาร์มาแลกเป็นบาทได้เพิ่มขึ้นทันที 4 บาทต่อดอลลาร์ เงินในมือผู้ส่งออกจะมากขึ้นจากเดือนละ 630,000 ล้านบาท เป็น 714,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 84,000 ล้านบาท

แต่ถ้าท่านทำพลาดเงินหายวับไปกับตาเลยแหละครับ

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
|โดย : บากบั่น บุญเลิศ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3386 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว