ปฏิรูปการผลิตปุ๋ยธ.ก.ส.อัดฉีด 3.6 พันล้านหนุนปุ๋ยสั่งตัด!

26 ก.ค. 2561 | 08:50 น.
ปฏิรูปการผลิตปุ๋ยธ.ก.ส.อัดฉีด 3.6 พันล้านหนุนปุ๋ยสั่งตัด!

แต่ละปีประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเพิ่มสูงขึ้น สังเกตจากปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญในปี 2559 มีจำนวน 4,882,923 ตัน มูลค่า 49,301 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 5,821,559 ตัน มูลค่า 57,803 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 มีการนำเข้าแม่ปุ๋ยสูตรสำคัญ อาทิ สูตร 46-0-0, 18-46-0, 0-0-60, 21-0-0, 16-20-0, 16-16-8, 15-15-15 และสูตร 13-13-21 แล้วกว่า 2,287,322.37 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 22,831.90 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 เป็นหนึ่งกลไกที่จะปฏิรูปการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสม ตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยสูงขึ้น ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

pui1

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยตามหลักวิชาการให้เหมาะสมกับสภาพดิน และชนิดพืช หลายราย ใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น หรือใช้ปุ๋ยที่ไม่เหมาะสมกับสภาพดินและพืช ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยบูรณาการร่วมกับสถาบันเกษตรกร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2563-2561) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรทั่วไป ปรับพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งจะทำให้เลือกใช้ปุ๋ยได้ถูกชนิด ถูกปริมาณ และตรงตามค่าวิเคราะห์ดินและชุดดินในแปลงของตนเอง ทั้งยังเป็นช่องทางช่วยให้ได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาถูก สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

โครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรแจ้งความจำ
นงและสนใจที่จะเข้าโครงการฯ แล้วกว่า 202 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 500 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถาบันเกษตรกรที่สามารถผลิตหรือผสมปุ๋ยเพื่อบริการให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปแล้ว ประมาณ 100 แห่ง กำลังการผลิตกว่า 20,000 ตันต่อปี ซึ่งมีทั้งที่เป็นปุ๋ยสูตรทั่วไป และปุ๋ยสั่งตัด ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งขับเคลื่อนและขยายผลโครงการฯ อย่างเต็มที่ และต่อเนื่อง อาทิ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินและปุ๋ยแก่สหกรณ์ การเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจ การใช้ชุดวิเคราะห์ดินอย่างง่าย (Test Kit) และการส่งโมบายยูนิต (Mobile unit) ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการผลิตและสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เป็นต้น โดยใช้กลไกสถาบันเกษตรกรเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก เพื่อให้สหกรณ์ปรับตัวเป็นผู้ผลิตตลอดจนให้บริการผสมปุ๋ยสั่งตัดแก่สมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งขยายต่อไปยังเกษตรกรทั่วไป และสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเอื้อประโยชน์และส่งผลดีต่อเกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย

pui

สถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้จัดหาปุ๋ยสั่งตัดโดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนจัดซื้อแม่ปุ๋ย เครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาผลิตปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพดินหรือชุดดินของแต่ละรายเกษตรกร รายพื้นที่ พร้อมส่งจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในราคาย่อมเยา ขณะนี้มีสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ยื่นความประสงค์ที่จะกู้เงินเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดแล้วกว่า 150 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการของสมาชิกและเกษตรกรที่มีความตื่นตัวและสนใจหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดเพิ่มมากขึ้น คาดว่า ในปี 2562 โครงการฯจะเดินหน้าได้เต็มรูปแบบและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นางสาวดุจเดือนกล่าวอีกว่า เนื่องจากปีนี้ฤดูฝนมาเร็วกว่าทุกปี การเก็บตัวอย่างดิน เพื่อการวิเคราะห์ธาตุอาหาร เกษตรกรอาจทำไม่ทันเพราะดินแฉะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนที่ชุดดินและข้อมูลการวิเคราะห์ชุดดินระดับตำบลไว้แล้ว จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการคำนวณหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชหลัก เกษตรกร แต่ละพื้นที่สามารถที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวมาปรับหรือเป็นแนวทางใช้ปุ๋ยสั่งตัดระดับตำบลได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปต้องเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์รายแปลงเพื่อหาสูตรปุ๋ยสั่งตัดเฉพาะเจาะจงรายแปลงซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

pui2

“โครงการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้เหมาะสม เน้นให้เกษตรกรหันมาใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือชุดดิน และตรงตามความต้องการของพืช สามารถช่วยแต่งเติมการใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังได้ปุ๋ยสูตรที่มีอาหารพืชเหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเกษตรกรต้องมีการวิเคราะห์ดินรายแปลงเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับดินและตรงชนิดพืช อนาคตคาดว่า ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ กระสอบละ 100-300 บาท หรือตันละ 3,000-4,000 บาท หรือไม่น้อยกว่า 500 บาท/ไร่ และยังทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นด้วย” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

e-book-1-503x62