'เงินกรมธรรม์' ตกค้างอื้อ! ผู้มีสิทธิ์ 7 แสนราย มารับเพียง 1 พันราย

07 ส.ค. 2561 | 09:38 น.
กปช. เตรียมสวมบทชำระบัญชีบริษัทประกันที่ถูกเพิกถอน ยัน! บริษัทประกันปัจจุบันฐานะแกร่ง เงินกองทุนเฉลี่ย 140% เตรียมจับมือมหา’ลัยศึกษาความเพียงพอของเงินกองทุน พร้อมยกระดับสมาชิกผู้เอาประกันผ่านออนไลน์ เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ผู้มีสิทธิ์มารับประโยชน์กรมธรรม์ก่อนพ้นอายุความ

นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต (กปช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กปช. ได้เตรียมจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุน ภายใต้งบประมาณปี 2562 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิตพิจารณาต้นปีหน้า ซึ่ง กปช. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี กรณีมีบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนด้วย แต่ยืนยันว่า ปัจจุบัน ธุรกิจประกันชีวิตไทยมีฐานะแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 140%

อย่างไรก็ตาม กปช. มีแผนจะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันชีวิตจากมหาวิทยาลัย ศึกษาระดับความเพียงพอของเงินกองทุนต่อความคุ้มครองเจ้าหนี้ เนื่องจากแต่ละบริษัทมีขนาดไม่เท่ากัน โดยไม่ต้องขยายอัตราเรียกเก็บเงินสมทบให้ถึงเพดาน หรือ กู้จากสถาบันการเงิน เพราะในหลักการกฎหมายระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน เพื่อจ่ายเจ้าหนี้กรณีถูกเพิกถอน โดยกฎหมายกำหนดให้ดำรงเงินกองทุนให้มีปริมาณเพียงพอต่อความคุ้มครอง รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท และใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน รวมถึงยกระดับการเข้าถึงสมาชิกผู้เอาประกันผ่านอิเล็กทรอนิกส์และเว็บไซต์ในปีหน้า

ปัจจุบัน กปช. มีเงินกองทุน 5,500 ล้านบาท โดยสมาชิกบริษัทประกันชีวิต 22 บริษัท นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตรา 0.1% ของเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทรับจากผู้เอาประกัน จากที่กฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดของอัตราที่เรียกเก็บเงินสมทบไว้ที่อัตรา 0.5% ของเบี้ยประกัน ส่วนการบริหารเงินกองทุน ส่วนใหญ่ 90% เป็นเงินฝากประจำอายุ 1-2 ปี ที่เหลือเป็นพันธบัตรและตราสารหนี้ที่กฎหมายกำหนดกรอบลงทุนไว้ โดย 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลตอบแทนจากเงินฝากที่อัตรา 2%


MP19-338A


สำหรับปีนี้ จะเน้นทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนรู้ถึงสิทธิประโยชน์ของการทำประกันชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทำประกันชีวิตไปแล้ว 2-5 ปี จะมีเงินตามกรมธรรม์ ซึ่งเป็นเงินคุ้มครองตามทุนประกัน ซึ่งผู้เอาประกันสามารถสอบถามที่บริษัทประกัน หรือ การทำประกันหลัง 10 ปี สามารถตรวจสิทธิ์รับเงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความได้ที่ กปช. ซึ่งหลังจากที่บริษัทประกันถูกเพิกถอน 1 เดือน ต้องโอนเงินนี้มาที่ กปช. หากนำส่งช้า 3-4 เดือน จะถูกเรียกเงินเพิ่มต่อเดือน 1.5% ของยอดเงินที่ต้องนำส่ง ส่วนเงินที่นำส่งมาจะอยู่ใน กปช. อีก 10 ปี

ในส่วนของเงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความที่ผู้เอาประกันไม่ได้ไปขอรับเงินจากบริษัทประกันชีวิตที่ได้ทำประกันชีวิตเอาไว้ จนระยะเวลาล่วงพ้น 10 ปีไปแล้ว ซึ่งบริษัทต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนประกันชีวิตตามกฎหมาย ประมาณ 7 แสนรายแล้ว จากสิ้นเดือน มี.ค. 2561 มีจำนวนเงินทั้งสิ้น 886,886,553 บาท ผู้เอาประกันซึ่งมีสิทธิ์ได้รับเงินดังกล่าวมีมากถึง 638,746 ราย ขณะที่ กองทุนจ่ายเงินคืนไปเพียง 11,378,210 บาท คิดเป็นผู้มารับสิทธิ์เพียง 1,078 ราย

สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ เช่น 1.ผู้เอาประกันบางรายไม่สามารถติดต่อได้ เช่น ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ แล้วไม่แจ้งข้อมูลใหม่ให้บริษัทประกันชีวิตทราบ 2.ผู้ทำประกันชีวิตบางรายเสียชีวิต และไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบว่า ได้ทำประกันชีวิตไว้ 3.ผู้ทำประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันปีต่ออายุ ทำให้ขาดความคุ้มครอง 4.ผู้เอาประกันชีวิตได้รับเช็คแล้ว แต่ไม่ไปขึ้นเงิน จนลืม หรือ เช็คขาดอายุ

ด้วยสาเหตุหลัก ๆ เหล่านี้ บอร์ดจึงมอบหมายให้ กปช. เร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เอาประกัน หรือ ทายาท หรือ ผู้รับประโยชน์ สามารถส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์มายังกองทุนประกันชีวิต หรือ มายื่นเอกสารหลักฐานผ่านทางสำนักงาน คปภ.จังหวัด ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และเมื่อได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว จะจ่ายเงินโดยโอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ จ่ายเป็นเช็ค

……………….
เซกชัน : กองทุน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,387 วันที่ 29 ก.ค. - 1 ส.ค. 2561 หน้า 19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
10 ปี เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ค้างรับกว่า 886 ล้าน แนะ ปชช. ขอรับสิทธิ์
TMB มอบกรมธรรม์ไลฟ์ เซฟเว่อร์ 15/9 มูลค่ารวมกว่า 500,000 บาท  กับเจ้าของข้อความโดนๆ ในแคมเปญ “เงินหายไปไหนหมด”


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว