กรมพัฒน์ชู "กุญแจ 3 ดอก" สู่ 'อี-คอมเมิร์ซ' ยั่งยืน

27 ก.ค. 2561 | 13:15 น.
270761-2015

ในงานสัมมนา e-Commerce BIG BANG ส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 1
ของกระทรวงพาณิชย์ ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ในช่วงเสวนา "เปิดประตูธุรกิจพิชิตค้าออนไลน์" นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สะท้อนมุมมองถึงศักยภาพการค้าออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ของไทย รวมถึงมีข้อแนะนำผู้ประกอบการสินค้าและบริการของไทย ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะก้าวสู่ความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้ในเร็ววันและมีความยั่งยืนในอนาคต ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ...


lalida1

'อี-คอมเมิร์ซ' นับวันยิ่งโต
นางลลิดา กล่าวว่า ศักยภาพ อี-คอมเมิร์ซไทย ทั้งในและต่างประเทศ ฟันธงได้เลยว่า โตแน่ ๆ จากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องและจากข้อมูล มั่นใจว่าอย่างไรก็โต เพราะถือเป็น New Normal หรือ สิ่งปกติใหม่ของโลกการค้า และยังมีช่องว่างอีกมาก มูลค่า อี-คอมเมิร์ซของไทยที่มีการทำวิจัยออกมา มีมูลค่าค่อนข้างมากประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท (ข้อมูลปี 2559 สำรวจและรายงานผลโดยสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุ อี-คอมเมิร์ซไทย มีมูลค่า 2.56 ล้านล้านบาท และปี 2560 มีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท) และช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็เติบโตตัวเลข 2 หลักต่อเนื่อง

ขณะที่ ในต่างประเทศพูดกันว่า อี-คอมเมิร์ซโตเป็น 20% แต่ อี-คอมเมิร์ซ เมื่อเทียบกับการค้าปลีกทั่วไปยังมีสัดส่วนที่น้อยมากไม่ถึง 5% เพราะฉะนั้นยังมีช่องว่างการค้าที่ใช้ อี-คอมเมิร์ซ อีกมาก และแข่งขันได้แน่นอน เพราะสินค้าและบริการของไทยมีคุณภาพที่ดี มีมาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วย จากเดิมที่เป็นเพียงการเปิดร้าน รอให้คนเดินเข้ามาซื้อ มีงานแสดงสินค้า (แฟร์) ก็ไปออกงาน ซึ่งคงไม่เพียงพอ


'กูเกิล' ยกไทยหัวครีเอต
"กูเกิล เขาบอกเลยว่า คนไทยเป็นนักคิดมาก ๆ ครีเอทีฟมาก ๆ ครีเอตยูทูบ มียอด View เป็นร้อยล้านวิว มีเป็นร้อยราย และมียอด View เป็นล้านวิว มีเป็นพันราย เพราะฉะนั้นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของเราสูงมาก และเรื่องตัวสินค้าปีปีหนึ่ง เราส่งออกประมาณ 8 ล้านล้านบาท (ตัวเลขปี 2560 ไทยส่งออก 8.006 ล้านล้านบาท) ดังนั้น ตัวสินค้า ตัวบริการ เรามีศักยภาพ เรามีของ และในเรื่องของอีโคซิสเต็ม (ระบบนิเวศ) ทั้งหลาย เราก็พร้อม ขณะนี้ รัฐบาลทำอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน กระทรวงดีอี (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ยืนยันแล้ว มีทุกหมู่บ้าน เกือบ 8,000 แห่ง เพราะฉะนั้นในเรื่องศักยภาพการแข่งขันเรามี แล้วทำไม อี-คอมเมิร์ซ ยังต้องมีการพูดกัน กระตุ้นกัน ก็เพราะผู้ประกอบการของเราบางทียังชินอยู่กับเรื่องเดิม ๆ"

ก่อนสัมมนามีโอกาสคุยกับคนในพื้นที่ (หาดใหญ่) บอกว่า ช่วงนี้ตลาดกิมหยงเริ่มวาย เพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับตรงนี้ เพราะฉะนั้น ในเรื่อง อี-คอมเมิร์ซ หรือ การใช้ประโยชน์จากดิจิตอลเพื่อการค้าเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นมาก ๆ ดังนั้น ถ้ามองในเรื่องการแข่งขัน ศักยภาพเป็นอย่างไร เรามีของและพร้อมที่จะแข่งขัน แล้วเราก็สามารถแข่งได้ในเวทีโลก


รัฐผู้อำนวยความสะดวก
ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่น ๆ ได้ช่วยเป็นผู้อำนวยความสะดวกและกำหนดนโยบายในการค้าของภาคเอกชนให้ก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างราบรื่น เป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบ โดยในส่วนของการค้า อี-คอมเมิร์ซ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้มีบทบาทในหลายเรื่อง ได้แก่ การพัฒนาคนในรูปแบบต่าง ๆ , การสร้างความน่าเชื่อถือ โดยออกเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อแสดงความมีตัวตนในการประกอบธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ของผู้ประกอบการ , การผลักดันการเข้าสู่ตลาด (Market Access) ของผู้ประกอบการให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องความจำเป็นของ อี-คอมเมิร์ซ ในการทำการค้าให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า "ไทยแลนด์ ออนไลน์ เมกะเซล" โดยผู้ประกอบการนำสินค้ามาลดราคา 30-70% ซึ่งจัดมา 8 ปีแล้ว เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการค้าออนไลน์ให้ขยายตัวมากขึ้น


TP9-3386-A

กุญแจ 3 ดอก สู่ความสำเร็จ
นางลลิดา ยังกล่าวถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเข้าสู่การค้า อี-คอมเมิร์ซ ได้ ทั้งที่ผ่านการฝึกอบรมมาก็มาก เรื่องนี้ประมวลออกมาได้ 3 เรื่อง ซึ่งหากทำได้แล้ว จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เรื่องแรก ต้องทำให้ตัวสินค้าและบริการเป็นที่รู้จัก ที่สำคัญ คือ ตัว Content (การป้อนข้อมูลให้กับลูกค้า) ต้องโดน เพราะตอนนี้การแข่งขันสูงมาก ถ้า Content ไม่ดึงดูดใจ ลูกค้าก็จะหายไป เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นที่รู้จัก Content ต้องโดน และ Search หาเจอและหาง่าย

เรื่องที่ 2 ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีเข้าสู่การค้าออนไลน์ได้ การจะทำให้ลูกค้าอยู่กับเราอย่างยั่งยืน ต้องมีการสร้างแบรนด์ สร้างสัมพันธภาพที่ดี สร้างความเชื่อใจ ลอยัลตี เพื่อให้ลูกค้ากลับมาหาต่อเนื่อง และเรื่องที่ 3 จะต้องขยัน ต้องไม่อยู่นิ่งในการที่จะหาความรู้ใหม่ ๆ หาช่องทางใหม่ ๆ และหาลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ

"ถ้ามีปัญหาอะไรติดต่อได้ที่ dbd.go.th หรือที่ฮอตไลน์สายด่วน 1570 ของกรม ซึ่งเรามีคอร์สอบรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่ถ้ายังไม่พร้อม ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรในการเข้าสู่ อี-คอมเมิร์ซ แต่มีสินค้าที่ดี อยากจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เราอาจแค่ไปอยู่ใน Point ของเว็บไซต์คนอื่น โดยอยู่ในจุดที่มีตัวตน พอ Search แล้วเจอก็ได้ ที่สำคัญต้องไปหาความรู้อย่างต่อเนื่อง"


……………….
เซกชัน : การค้า-ลงทุน สัมภาษณ์พิเศษ ลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,386 วันที่ 26-28 ก.ค. 2561 หน้า 09

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมพัฒน์ฯเผย กฤษฎีการับทราบปัญหา กรณี IFEC แล้ว
กรมพัฒน์ฯ เร่งหารือกฤษฎีกา ยุติปัญหา IFEC


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว