ฮอนด้าเอาจริงร่วมมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ แก้ไขปัญหาน้ำ

26 ก.ค. 2561 | 03:07 น.
24 ก.ค. 61

การแก้ปัญหานํ้า เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจด้านความช่วยเหลือสังคม ที่กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยให้ความสำคัญมาก โดยตั้งแต่ปี 2555 ฮอนด้าได้จัดตั้ง “กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประชาชนไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุ
อันเกิดจาก แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภัยหนาว ภัยแล้ง นํ้าท่วม โดยมอบเงินสมทบ 1,000 บาทต่อการขายรถยนต์ 1 คัน 100 บาทต่อการขายรถจักรยานยนต์ 1 คัน และ 10 บาทต่อการขายเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 1 เครื่อง ปัจจุบันกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย  มียอดเงินสะสม ณ เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

ล่าสุด “พิทักษ์ พฤทธิสาริกร” กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งนํ้า ลุ่มนํ้าปราจีนบุรี ปีที่ 4 กับกิจกรรม “สร้างฝายแกนดินหินก่อ กักเก็บนํ้าเพื่อการเกษตร” พัฒนาฟื้นฟูฝายกักเก็บนํ้าในพื้นที่คลองโสม ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งและป้องกันวิกฤตินํ้าหลาก และพยายามผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบในด้านการจัดการและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรนํ้าให้กับชุมชนอื่น จากการดำเนินโครงการในปีนี้ คาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์กว่า 226 ไร่ ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน รวม 68 ครัวเรือน

จิตอาสาร่วมแรงร่วมใจสร้างฝายหินและปลุกหญ้าแฝก

“ดร.รอยล จิตรดอน” กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหานํ้าหลากและภัยแล้งมาเป็นเวลานาน โครงการนี้จึงเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ในพื้นที่อ่างเก็บนํ้าหนองแสง ตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จากนั้นในปี 2559  ได้ขยายพื้นที่ไปยังหนองปลาแขยงและคลองบุงกะเบา ตำบลเมืองเก่า อำเภอกบินทร์บุรี และปี 2560 ในพื้นที่คลองยาง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง ซึ่งทางกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้ร่วมดำเนินโครงการและสนับสนุนงบประมาณตลอดโครงการทั้ง 4 ปี รวม 26.21 ล้านบาท และเมื่อโครงการครบ 4 ปี จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บนํ้า ทำให้มีปริมาณนํ้าสำรองในพื้นที่สำหรับชุมชนในการบริโภคอุปโภคและการทำเกษตรกรรมรวมกว่า 3 ล้านลบ.ม.ต่อปี รวมพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับประโยชน์ 17,884 ไร่ และชาวปราจีนบุรีได้รับประโยชน์กว่า 5,043 ครัวเรือน

“พิทักษ์” บอกว่า การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนโดยรอบ ได้มีการคัดกรอง พร้อมให้แต่ละชุมชนเขียนโครงการเข้ามา เพื่อการดำเนินงานช่วยเหลืออย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อชุมชนได้รับประโยชน์เขาจะช่วยกันดูแลและพัฒนาต่อ เป็นโครงการที่ยั่งยืนต่อไป โดยแต่ละโครงการจะมีระยะเวลาการทำงาน และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อเนื่อง

ส่วนการติดตามผล จะมีการประเมินว่า ปัญหานํ้าแล้งนํ้าหลากหมดไปหรือไม่ ประชาชนมีนํ้ากินนํ้าใช้อย่างพอเพียง และสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับคนพื้นที่นั้นๆ หรือเปล่า ซึ่งที่ผ่านมา ได้ประสิทธิผลเป็นอย่างดี โดยดูได้จากปี 2560 ซึ่งปริมาณนํ้าใกล้เคียงกับปี 2554 ที่เกิดนํ้าท่วม แต่ปราจีนบุรีไม่ประสบภาวะนํ้าท่วม หรือภัยแล้งที่เพิ่งผ่านมา ชาวปราจีนบุรีก็ไม่ประสบปัญหาทางด้านนํ้าอีกเช่นกัน

เหล่าอาสาสมัครขมักเขม่นในการสร้างฝายหินก่อ

“ระบบเครือข่ายนํ้ามันมีดั่งเดิมอยู่แล้ว เราไม่ได้ทำใหม่ทั้งหมด แต่เรามาช่วยฟื้นฟู แหล่งนํ้าที่ตื้นเขิน ทำให้โครงสร้างเดิม กลไกเดิม มันได้กลับมาทำงานอีกครั้ง สร้างให้เกิดความร่วมมือในชุมชนเป็นเครือข่าย ที่สามารถต่อยอด สร้างให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง”

“พิทักษ์” กล่าวอีกว่า กองทุนเคียงข้างไทยในช่วงนี้ จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานํ้าให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นแนวทางที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก และยังทำให้เกิดประโยชน์ในระดับประเทศ และเร็วๆ นี้ ฮอนด้าจะร่วมมือกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดทำศูนย์การบริหารจัดการนํ้า โดยเป็นการขยายผลจากที่ฮอนด้าดำเนินการอยู่แล้วในโรงงาน เป็นการเก็บข้อมูล และประเมินปริมาณนํ้าในแต่ละจุด เพื่อการบริหารนํ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเป็นการป้องกันและเตรียมการล่วงหน้า หากเห็นปริมาณนํ้าที่ผิดจากปกติ

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,386 วันที่ 26-28 ก.ค. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว