กสทช.VS ดีแทค เปิดศึกคลื่นความถี่ 900/1800

25 ก.ค. 2561 | 07:00 น.
แม้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz รอบใหม่จากเดิมใบอนุญาต 15 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาตแบ่งใบเป็นแบบใบเล็ก ใบอนุญาตละ 5 MHz จำนวน 9 ใบ อนุญาตผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นต่อ 1 ใบอนุญาต (5MHz) ราคา 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท นอกจากนี้แล้วยังประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาตใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์

ย้อนรอย


การปรับหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz รอบใหม่ในครั้งนี้เป็นเพราะเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ดีแทค ไม่ร่วมยื่นเอกสารประมูลคลื่นความถี่ เป็นผลให้กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ต้องยกเลิกไป อีกทั้ง นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI โพสต์ข้อความ การประมูล 1800 MHz ที่ล้มเหลวไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล เป็นเพราะ กสทช.ไปกำหนดราคาตั้งต้นรอบนี้สูงเกินไป เพราะไปกำหนดราคาเท่ากับราคาชนะประมูลในรอบที่แล้ว เป็นผลให้ กสทช.ได้ปรับเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz ใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แต่เปิดประมูลคลื่น 1800 MHz
เท่านั้น ได้เปิดประมูลคลื่น 900 MHz ราคาเริ่มต้นประมูล 35,988 ล้านบาท เคาะครั้งละ 72 ล้านบาท

‘ฐากร’เผย‘ดีแทค’สน900


หลังปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่และผลบอร์ดการประชุมของ กสทช.เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมบอร์ด ว่าที่ประชุม กสทช.ยังรับทราบที่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช.แจ้งความพร้อมจะเข้าร่วม โดยทาง ดีแทค มีเงื่อนไขว่า หาก ดีแทค เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz และชนะการประมูล ดีแทค มีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากมีอุปกรณ์ภายใต้ระบบสัมปทานอยู่จำนวน 13,000 สถานี ที่ต้องใช้เวลาปรับปรุงสอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย ขณะที่มาตรการเยียวยา กสทช.ยังไม่สามารถทำให้ได้เนื่องจาก ดีแทค ยังไม่เข้าร่วมประมูล ดังนั้น ดีแทค ต้องเร่งย้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561
MP20-3386-1 รับเอกสารแล้ว 4 บริษัท

อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz สำนักงาน กสทช.กำหนดให้วันที่ 6 กรกฎาคม-7 สิงหาคม เป็นวันรับเอกสารคำขอร่วมการประมูล แต่ปรากฏว่าในวันที่ 16 กรกฎาคมที่่ผ่านมา มีเอกชนสนใจจำนวน 4 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทในเครือ ดีแทค อันได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN และ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด และ บริษัทในเครือเอไอเอส ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสฯ และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์คฯ (AWN) รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8 ชุด ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์

ดีแทค พลิ้วเงื่อนไขเยอะ


แต่ทว่าหลัง ดีแทค ยื่นรับเอกสารคำขอร่วมการประมูลชี้แจงแล้ว ปรากฏว่า ดีแทค ได้ส่งเอกสารชี้แจงพร้อมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โดยนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ของ ดีแทค กล่าวว่า เงื่อนไขประมูลใบอนุญาต 900 MHz ที่กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องมีหน้าที่รับผิดชอบป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยมีภาระในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz และผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งทางราง จำนวน 4 โครงการซึ่งในเบื้องต้น โดยเฉพาะประเด็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เชื่อว่าจะสูงกว่าจำนวนเงินที่ กสทช. ลดราคาขั้นตํ่าของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท อาจจะตํ่าเกินไป เพราะหลายฝ่ายประเมินว่าอาจจะสูงถึง 6,000 ล้านบาท

รอลุ้นประมูลคลื่น 1800


เมื่อเงื่อนไขประมูลคลื่น 900 MHz ยังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ดูท่าแล้ว ดีแทค คงไม่เข้าร่วมประมูลในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะไปประมูลคลื่น 1800 MHz แทน เพื่อไปต่อยอดกับฐานลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และต้องรอลุ้นว่า เอไอเอส กับ ทรูมูฟ จะประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อไปเพิ่มคลื่นเดิมที่มีอยู่ให้เป็น 20 MHz

ถึงเวลาเข้าร่วมประมูลเอง


อย่างไรก็ตามเงื่อนไขประมูลที่กำลังกลายเป็นประเด็นระหว่าง กสทช.และ ดีแทค ส่งผลให้ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของดีแทค ออกมาชี้แจงว่า ดีแทค กำลังพิจารณาข้อกำหนดและเงื่อนไขของการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz เพื่อประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของคลื่นความถี่ทั้ง 2 คลื่น ทั้งนี้บอร์ดบริหารของดีแทคจะตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งดีแทคมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีผลกระทบ ไม่ว่าผลของการประมูลคลื่นความถี่จะเป็นเช่นไร

นอกจากนี้แล้วแหล่งข่าวระดับสูง ของ ดีแทค เคยให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนกรณีหากไม่มีการเยียวยาคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายอนุโลมให้ทำเป็นขั้นๆไป สังคมไทยเป็นสังคมยุติธรรม เคยปฏิบัติให้ค่ายอื่นแบบใดก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคต้องคุ้มครองสิทธิ์เจ้าของเครื่องเจ้าของเบอร์ ดังนั้น ดีแทค ก็จะอธิบายสิทธิ์ของเจ้าของเบอร์ว่าจะปกป้องสิทธิ์ตัวเองไหมบริษัทก็จะทำทุกอย่างที่ปกป้องสิทธิ์ของลูกค้า
“อย่าลงโทษบริษัทเลยที่ไม่ยอมสั่งอาหารทั้งๆ ที่พุงอิ่มแล้ว”

แหล่งข่าวกล่าว

ต้องบอกว่าการประมูลคลื่นรอบนี้ กสทช.พุ่งเป้าไปที่ “ดีแทค” โดยตรงเนื่องจากไม่ยื่นประเอกสารประมูลในครั้งที่ผ่านมา และครั้งนี้ กสทช.ก็ยอมปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขคลื่น 1800 MHz และนำคลื่น 900 MHz ออกมาประมูลแบบคู่ขนาน แต่ดูแล้ว “ดีแทค” ก็ยังไม่ปลื้มกับหลักเกณฑ์คลื่น 900 เท่าไรนัก

รอลุ้นวันที่ 8 สิงหาคมนี้ “ดีแทค” จะยื่นเอกสารประมูลหรือไม่อย่างไร แต่โปรดอย่าได้จับลูกค้าเป็นตัวประกันเลย เพราะบรรดาลูกค้าจะเดือดร้อนถ้าเกิด “ซิมดับ”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

.......................................................................................................

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,386 ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2561