| INTERVIEW | ทูตไทยแนะสูตรสำเร็จ! ลงทุน 'เมียนมา' ต้องมาคู่ CSR

23 ก.ค. 2561 | 13:13 น.
230761-2005

… ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเมียนมา มีพัฒนาการมาเป็นเวลายาวนาน ครบ 70 ปี ในปี 2561 นี้ "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเดินทางมาร่วมงานสัมมนาเจาะลึกการค้า-การลงทุนในเมียนมา ภายใต้ชื่องาน Myanmar Insight ครั้งที่ 3 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ในวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ต่อไปนี้ คือ มุมมองและสิ่งที่ท่านทูตอยากจะบอกต่อผู้ประกอบการไทย ว่า ถ้าสนใจเมียนมาอย่ารอช้า หากไม่รู้จะเริ่มตรงจุดไหน สถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง พร้อมตอบทุกข้อสงสัย


ต้องลงพื้นที่-รู้ลึก รู้จริง
ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ในเมียนมา รองจากจีนและสิงคโปร์ ซึ่งการขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของจีน หลังจากที่เมียนมาเปิดประเทศนั้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจากจีนเป็นมหาอำนาจที่พร้อมจะสนับสนุนทางการเงินให้บริษัทจีนออกมาลงทุน พร้อมที่จะให้เงินกู้แก่บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในเมียนมาในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือแทบจะไม่มีดอกเบี้ยเลย จึงเป็นข้อได้เปรียบในการยื่นราคาประมูลโครงการสำคัญ ๆ เพราะสามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง

 

[caption id="attachment_300149" align="aligncenter" width="503"] จักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จักร บุญ-หลง
เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง[/caption]

นอกจากนี้ ในประชากรเมียนมากว่า 50 ล้านคน ยังเป็นคนเชื้อสายจีนมากถึง 4-5 ล้านคน นับเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ เพราะชาวเมียนมาเชื้อสายจีนเหล่านี้ก็จะสามารถเป็นหุ้นส่วนท้องถิ่น หรือ Local Partner ที่ดี ให้กับบริษัทจีนที่เข้าไปลงทุน ดังนั้น จีนจึงมีแต้มต่อ ทั้งด้าน 'ทุน' และ 'คน' ส่วนสิงคโปร์นั้น ส่วนมากเป็นบริษัทนานาชาติที่เข้าไปจดทะเบียนบริษัทในสิงคโปร์มากกว่าที่จะเป็นบริษัทสิงคโปร์แท้ ๆ ตัวเลขลงทุนที่ดูสูงในเมียนมา จึงเป็นทุนนานาชาติผสม ๆ รวมกันอยู่กับทุนสิงคโปร์ การที่ไทยอยู่ในอันดับ 3 นั้น จริง ๆ แล้วก็ถือว่า เป็นผู้ลงทุนอันดับต้น ๆ ในเมียนมา ถ้าไม่รวมจีน แต่เหตุที่ทุนไทยยังไม่รุกเพิ่มเข้าไปมากเท่าที่ควร ก็มีเหตุปัจจัยหลายประการ ส่วนหนึ่ง คือ เรายังไม่มั่นใจมากพอ เพราะเมียนมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และเมื่อมีรัฐบาลพลเรือนแล้ว ก็มีการปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าการลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนของไทยจำนวนไม่น้อย ยังรีรอดูสถานการณ์

และปัจจัยที่ 2 ที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ก็คือ ความขาดแคลนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมา เช่น ถนนหนทาง สะพาน ท่าเรือ อินเตอร์เน็ต ระบบโทรคมนาคม และที่สำคัญ คือ กระแสไฟฟ้า ที่ยังขาดแคลนในหลายพื้นที่ แต่หากจะมองอุปสรรคดังกล่าวให้เป็นโอกาส ก็จะเห็นได้ว่า นี่คือ สิ่งที่บริษัทไทยสามารถเข้าไปลงทุน ข้อแนะนำอีกอย่าง คือ หากต้องการความมั่นใจสำหรับโรงงานผลิต ก็ควรเข้าไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่หลายแห่ง เช่น นิคมฯติลาวาชานเมืองย่างกุ้ง มีบริษัทไทยเข้าไปตั้งโรงงานแล้ว 13 ราย "ศักยภาพการลงทุนในเมียนมามีอยู่มากมาย และไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ โอกาสมีมากเช่นกันสำหรับ SMEs ไทย เพราะตอนนี้รัฐบาลเมียนมาเอง ก็ให้ความสำคัญและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม มีโครงการสนับสนุนคนหนุ่มสาวให้ทำธุรกิจ จุดนี้เป็นโอกาสให้เราเข้าไปจับมือเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน"

ท่านทูตย้ำว่า โอกาสมาแน่ หากผู้ประกอบการไทยศึกษาตลาดมากพอ ซึ่งทางสถานทูตเอง ก็พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนในด้านข้อมูลที่เจาะลึก มีศูนย์ข้อมูลธุรกิจ มีเว็บไซต์ รวมทั้งการจัดกิจกรรมพบปะและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้พบกับบริษัทไทยที่เข้าไปบุกเจาะลงทุนในตลาดเมียนมาอยู่แล้ว (ซึ่งปัจจุบันมีราว 200 บริษัท และมีสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมาด้วย) รวมทั้งบริษัทต่างชาติ สมาชิกหอการค้านานาประเทศในเมียนมา ที่สถานทูตมีความร่วมมือจัดกิจกรรมกันอยู่ "ถ้ายังไม่เข้าไปลงทุนเต็มตัว ผมแนะนำให้เข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนไว้ก่อน เพื่อศึกษาตลาดในพื้นที่จริง และติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องกฎระเบียบ-กฎหมายต่าง ๆ ที่เริ่มจะลงตัวมากขึ้น เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสมก็จะได้เดินหน้าได้อย่างมั่นใจ ผมอยากให้เข้าไปศึกษา ไปทำการบ้านให้รู้จริง อย่าคิดว่าเมียนมาเปิดประเทศแล้ว เขาจะมีอะไรพร้อมทุกอย่าง เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจและให้เวลาเขา เราเองก็ต้องมีข้อมูลพร้อม ขณะเดียวกันก็เข้าไปสร้างมิตร สร้างเครือข่ายธุรกิจเอาไว้ เพราะถ้าอยู่แต่ในเมืองไทย เราจะไม่ได้เห็นอะไรเลย"


 

[caption id="attachment_300150" align="aligncenter" width="503"] จักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จักร บุญ-หลง
เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง[/caption]

เดินหน้าโครงการทวาย
ในส่วนของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างเมียนมา ไทย และญี่ปุ่นนั้น แม้จะมีความล่าช้าจากการที่เมียนมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ขณะนี้ ทุกอย่างเริ่มลงตัว เมียนมามีคณะเจ้าหน้าที่ชุดใหม่เข้ามาดูแลและเริ่มมีความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการทวายอีกครั้ง ทำให้ในปีนี้จะได้เห็นความคืบหน้าใน 2 ส่วน คือ "การพัฒนาเฟสแรก ซึ่งขณะนี้ยังมีการเจรจาต่อรองกันอยู่ แง่ของรายละเอียดและเรื่องถนนเชื่อมจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ผ่าน จ.ตีกิ ของเมียนมา มายังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตอนนี้รัฐสภาเมียนมาอนุมัติให้รัฐบาลขอกู้เงินจากรัฐบาลไทยแล้ว ทางเมียนมายื่นเสนอขอทำการพัฒนาถนนมาแล้ว พร้อมขอกู้เงินจากไทย แสดงถึงท่าทีของรัฐบาลเมียนมา ว่า เขาเอาจริงและกำลังผลักดันให้เกิดโครงการนี้ รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวอยู่ โดยจะพิจารณา 2 เรื่องควบคู่กันไป ได้แก่ รายละเอียดของถนน ซึ่งจะทําให้ได้ตัวเลขสําหรับการทําความตกลงการกู้เงิน แม้ในอดีตจะเคยมีการศึกษาเรื่องน้ีและมีตัวเลขออกมาแล้ว แต่เนื่องจากนี่เป็นการยื่นข้อเสนอครั้งใหม่ มีรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับถนน ทำให้ต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน ก็คงจะสรุปออกมาได้ภายในปีนี้ เมื่อมีถนน ผมเชื่อว่า โครงการนี้เกิดได้แน่ ๆ เพราะมันคือ ศักยภาพของโครงการ และทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ เมื่อถนนเสร็จการเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ทวายจะใช้เวลาไม่ถึงเพียง 4 ชั่วโมงครึ่ง เมียนมาเขาก็คงมองเห็นจุดนี้เช่นกันถึงได้เดินหน้าลงทุนเอง"

อย่างไรก็ตาม ท่านทูต กล่าวสรุปว่า ทุก ๆ โครงการลงทุนควรคำนึงถึงการคืนประโยชน์สู่สังคม การมอบความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่คนในพื้นที่ ฉะนั้น ผู้ลงทุนไทยก็ควรจะมีโครงการซีเอสอาร์ (แสดงรับผิดชอบต่อสังคม) ทำควบคู่ไปด้วย หากต้องการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในเมียนมา



……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,385 วันที่ 22-25 ก.ค. 2561 หน้า 10

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงนามซื้อขายไฟฟ้าจำหน่ายไฟฟ้าให้บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก – จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ไทย - เมียนมา มุ่งส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และผลักดันความร่วมมือทุกมิติ



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว