ชง ครม.สัญจร ขอหมื่นล้าน! หนุนพัฒนา ศก.อีสานล่าง

23 ก.ค. 2561 | 06:34 น.
230761-1324

รัฐ-เอกชน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ชง ครม.สัญจรอุบลฯ ของงบ 1.1 หมื่นล้านบาท ปลุกเศรษฐกิจ ไล่ตั้งแต่ผลักดันโครงการสามเหลี่ยมมรกต ขยายถนน สนามบิน สะพานข้ามโขงแห่งที่ 6 จนถึงรถไฟทางคู่

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่ จ.อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ในวันที่ 23-24 ก.ค. 2561 กลุ่มพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ เตรียมนำเสนอโครงการพัฒนา 5 หมวดหลัก ซึ่งเป็นผลจากการหารือระหว่างส่วนราชการและภาคเอกชน รวมมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท อาทิ ด้านการคมนาคม ให้ความสำคัญในการขยายสนามบิน รถไฟทางคู่ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ปัญหาน้ำท่วม ยกระดับการเป็นเกษตรอินทรีย์นำร่อง 4 จังหวัด เน้นการเกษตรที่ปลอดภัยและลดรายจ่ายของประชาชน ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มจังหวัด ผลักดันโครงการสามเหลี่ยมมรกต ที่มีพื้นที่เชื่อมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ และผลักดันสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 อุบลราชธานี-สาละวัน เพื่อเชื่อมโยงการค้าและท่องเที่ยวกับเพื่อนบ้าน


Picture2

นายอดุลย์ นิลเปรม รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เสนอด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เปิดเผยว่า ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์จะเป็นการขอรับการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมทางบกและทางอากาศ คือ โครงข่ายคมนาคมทางถนน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้า การลงทุน การค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัด โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย และจัดทำเกาะกลางถนนในเส้นทางสำคัญ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จำนวน 13 สายทาง อาทิ การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2169 ช่วงยโสธร-เลิงนกทา เนื่องจากเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจเชื่อมต่อกับ จ.มุกดาหาร และมีโครงข่ายเชื่อมโยงสายหลักไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 โดยขอขยายเป็น 4 ช่องจราจร, การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2083+2351 (มหาชนะชัย-ค้อวัง-ยางชุมน้อย) เป็น 4 ช่องจราจร, การปรับปรุงถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี ฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231 ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าและเดินทางสู่ด่านชายแดนช่องเม็ก โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร, เร่งรัดการศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานพัฒนามิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 ที่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ขอขยายอาคารสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอินโดจีน โดยเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ 4 ชั้น ปรับปรุงและต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร ก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิมรองรับเครื่องโบอิ้ง 737 ได้ 5 ลำ เพิ่มเป็น 10 ลำ ในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ก็ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการพัฒนาสนามบินเก่าเลิงนกทา กับการสร้างสนามบินใหม่ที่มุกดาหาร เป็นสนามบินพาณิชย์

 

[caption id="attachment_300006" align="aligncenter" width="503"] ©ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี กรมท่าอากาศยาน ©ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี กรมท่าอากาศยาน[/caption]

ส่วนโครงข่ายคมนาคมทางราง เสนอเร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่วารินชำราบ-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวทางด้านตะวันออกของภาคอีสานกับประเทศเพื่อนบ้าน


GP-3385_180723_0013

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,385 วันที่ 22-25 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'อาคม' ประชุมกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 2 เตรียมพร้อม ครม.สัญจร-ฟังสรุปโครงการสำคัญ
ดุสิตโพล เผย ปชช. มอง ครม.สัญจรครั้งนี้ "มีนัยยะทางการเมือง"


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว