การเชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยี

23 ก.ค. 2561 | 05:56 น.
ในอดีตการทำงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยพละกำลังและทักษะของมนุษย์หรืออาจผสมผสานกับแรงงานของสัตว์ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทช่วยให้งานทำได้รวดเร็วในปริมาณที่มากขึ้น และสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ในการเลือกใช้เทคโนโลยี ต้องเข้าใจก่อนว่าเทคโนโลยีที่จะใช้นั้นคืออะไร นำมาใช้งานได้อย่างไร และที่สำคัญคือในที่สุดแล้วจะกลายเป็นการควบคุมเทคโนโลยีหรือจะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี

มนุษย์มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพ ถึงแม้จะมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น สามารถคิด มีจินตนาการที่นำไปสู้การสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ (Innovation) แต่เมื่อเทียบกับปัญญาประดิษฐ์หรือสมองอัจฉริยะ AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถทำงานได้เกือบทุกอย่างที่มนุษย์เคยทำและอาจทำได้ดีกว่า เช่น แต่งเพลง เขียนนวนิยาย สามารถเล่นหมารุกชนะคนได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วเราก็ต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราเองว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่เป็น AI หรือเครื่องกลต่างๆ ควรเป็นเช่นไร ในด้านบวก นี่อาจจะเป็นโอกาสที่เราไม่ต้องทำงานที่เราไม่อยากทำ หรือที่เรียกว่างาน 3D (Dirty, Dangerous, Difficult) แต่ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์อาจกลายเป็นส่วนเกินที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ที่ผ่านมา...บริษัทใหญ่ระดับ Corporation จะแสวงหาแรงงานที่มีค่าแรงถูกในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อตั้งโรงงานผลิตและส่งออกสินค้า แต่ในปัจจุบันระบบ Automation ที่มีราคาถูกลงและประสิทธิภาพสูงขึ้น กำลังสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Reshoring ซึ่งบริษัทที่เคยหาแหล่งแรงงานราคาถูก ได้เริ่มย้ายฐานการผลิตกลับไปตั้งที่ประเทศแม่ เนื่องจากต้นทุนในการติดตั้งระบบ Automation ที่ไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ ไม่ได้แพงไปกว่าการใช้แรงราคาถูก มีความผิดพลาดในกระบวนการผลิตน้อยกว่า แถมสินค้ายังมีความน่าเชื่อถือจากการใช้ชื่อประเทศผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง และที่สำคัญคือไม่ต้องกังวลเรื่องการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงของคนงานอีกต่อไป

มนุษย์มีศักยภาพทางด้าน Social Intelligence, Emotional Intelligence และ Intellectual Intelligence ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ยังได้เปรียบเทคโนโลยีอยู่เพราะ AI ยังทำไม่ได้ เช่น การทำงานแบบเป็นทีม การตัดสินใจโดยใช้วิจารณญาณ และการกระตุ้นรวมพลังสู่เป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ AI อาจจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยการหลอมรวมมนุษย์กับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Singularity) ผ่านทางการสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Brain-Computer Interface หรือ BCI ซึ่งอาจไปถึงขึ้นมนุษย์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลในสมองรวมถึงจิตใจมาเก็บไว้ใน Machine เมื่อเสียชีวิต และมีร่างใหม่ ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลกลับเข้าไปใหม่ได้ครบถ้วน.....แม้กระทั่งดาวน์โหลดสมองไว้ในระบบ cloud เพื่อใช้ประโยชน์รวมกันก็ได้

BCI จะแตกต่างจาก AI ที่เป็นการทำงานของระบบ Algorithm อย่าง Chat Bot จะเป็นระบบถาม-ตอบอัตโนมัติ มีการเรียนรู้และสามารถตอบคำถามได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในเชิงจริยธรรมแล้ว AI ยังไม่สามารถใช้วิจารณญาณได้ แต่ถ้าเป็น BCI คือการเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงขึ้นไม่ต้องใช้สายระโยงระยางในการเชื่อมต่อ แค่สัญญาณจากเปลือกสมองก็สามารถสั่งการได้แล้ว

ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีเป็นไปได้ 3 สมมุติฐาน คือ ถ้าหากเทคโนโลยีมีการพัฒนามากกว่าสมองของมนุษย์ ก็จะคล้ายกับภาพยนต์เรื่อง “The Matrix” ที่เครื่องจักรกลเป็นตัวควบคุมมนุษย์ ส่วนสมมุติฐานที่สองคือ มนุษย์ยังคงควบคุมเครื่องจักรกล เช่น แขนกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมจะทำหน้าที่เฉพาะเรื่องไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งกำลังพัฒนาไปในแบบที่เรียกว่า Collaborative Robot หรือ CoBot ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ทำงานร่วมไปกับมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยทำงานบ้าน สมมุติฐานที่สาม คือการอยู่ร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์แบบเป็นเนื้อเดียวกัน เช่นมนุษย์ที่ไม่สามารถเดินได้ ใส่ชุดอุปกรณ์ที่ออกแบบให้เหมาะกับสรีระและอาศัย BCI เพื่อสั่งการอุปกรณ์เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น

ศิลปินชื่อ นีล ฮาร์บิสสัน (Neil Harbisson) เกิดมากับโรคตาบอดสี เป็นมนุษย์คนแรกที่ติดตั้งอุปกรณ์คล้ายๆ กับ เสาอากาศ แทนที่จะเห็นโลกเป็นสีเทา กลับสามารถแปลงสีต่างๆ เป็นความถี่ที่ได้ยินได้ นอกจากฟังสีได้แล้ว ยังสามารถฟังใบหน้าผู้คนและรูปภาพได้อีกด้วย ซึ่ง นีล ฮาร์บิสสัน ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “Instead of using technology or wearing technology constantly, we will start becoming technology”

โดย : ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ
[email protected]