IRPC มุ่งสู่เป้าหมายบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของเอเชีย ภายในปี 2563 

28 ก.ค. 2561 | 03:30 น.
ตั้งเป้าความสำเร็จที่ท้าทาย พร้อมกับวางแผนไปสู่เส้นชัย โดยไม่ล้มเลิกเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้ระหว่างทางจะยากหรือมีอุปสรรคมากเพียงใด เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา พร้อมกับนำบทเรียนดังกล่าวไปพัฒนา เพราะส่วนตัวเชื่อเสมอว่าการจะเข้าสู่เส้นชัยมี “วิธีการ” สำหรับผู้ที่แน่วแน่อยู่เสมอ” คำกล่าวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและแนวคิดที่เข้าใจง่ายจากผู้บริหารมากความสามารถและเพียบพร้อมไปด้วยประสบการณ์  ในวงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยกว่า 3 ทศวรรษ คุณสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC”

IMG_0442
หลังจากการเปิดตัวโครงการ EVEREST หรือการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศใน 5 ด้านที่ประกอบไปด้วย 1. การผลิต 2. การตลาดและการขาย 3. การจัดซื้อจัดจ้าง 4. การบริหารจัดการด้านภาพรวมองค์กร และ 5. การพัฒนาสุขภาพองค์กร เพื่อมุ่งสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งบรรลุเป้าหมายอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ ROIC >14% สู่ระดับ “Top Quartile” และบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น “บริษัทปิโตรเคมีชั้นนำของเอเชียภายในปี 2563”

คุณสุกฤตย์ พูดถึงภาพรวมการพัฒนาได้อย่างน่าสนใจว่า ในมิติของการผลิต IRPC ตัดสินใจหยุดซ่อมบำรุงและปรับปรุงการผลิตในช่วงต้นปี 2560 ไปเป็นระยะเวลา 1 เดือน ผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้กำลังผลิตของ IRPC เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ผลิตได้ 215,000 บาร์เรล/วัน เป็น 230,000 บาร์เรล/วัน นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโรงกลั่นของ IRPC ส่งผลโดยตรงต่อผลประกอบการภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกมาจากโครงการที่ลงทุนไว้ทยอยเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี 2560 เช่น โครงการขยายการผลิตโพลิโพรพิลีน (PP) เพิ่มอีก 30% รวมถึงโรงไฟฟ้า Clean Power ที่ได้ร่วมทุนกับทาง GPSC โดยเป็นโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชันมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวมทั้งหมด 180-300 ตันต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันยังควบรวมไปถึงโครงการ Max Gasoline Project หรือการผลิตนํ้ามันเบนซินเพิ่ม เพื่อขายในประเทศและแทนการส่งออก โดยทั้งหมดครอบคลุมด้านการตลาด การขาย การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารการเงินที่สมดุล

irpc

สำหรับแผนพัฒนาในปี 2561 IRPC ปักหมุดกลยุทธ์ “GDP” ผ่านการจัดตั้ง “สำนักบริหารจัดการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร” ขึ้นมาเพื่อทำภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับโครงการ EVEREST ซึ่งประกอบไปด้วย 3 มิติ ได้แก่

1. Power of “Growth” โดยจะดำเนินการภายใต้โครงการ Maximize Aromatics (MARS) ถือเป็นหนึ่งโครงการที่เพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบที่มีอยู่ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มอะโรเมติกส์ จำนวน 1.3 ล้านตัน แบ่งเป็น พาราไซลีน 1 ล้านตัน/ปี และเบนซิน 3 แสนตัน/ปี โดย UOP Asia จะดำเนินการออกแบบทางวิศวกรรมในเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2561 และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมให้บริษัทสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจาก 15% เป็น 25% ซึ่งเป็นสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากโรงงานปิโตรเคมีครบวงจรที่สูงที่สุด

2. Power of “Digital” การยกระดับการจัดการภายในด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยโครงการ IRPC 4.0 คือการบูรณาการระบบดิจิตอลและนวัตกรรมทันสมัยต่างๆ เข้ามาร่วมใช้ในขั้นตอนธุรกิจของบริษัทโดยเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

3. Power of “People”  IRPC เชื่อว่าหากจะขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ศักยภาพภายในต้องพร้อมและเพียงพอที่จะยืนหยัดได้ IRPC จึงมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากรอย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมในหัวข้อที่สำคัญต่อการดำเนินงาน เช่น การสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยแต่ละหลักสูตรสามารถเรียนได้ในรูปแบบ E-Learning ไม่เพียงเท่านั้นยังปลูกฝังค่านิยม IRPC DNA ซึ่งประกอบไปด้วย Individual ownership (คิดและทำเหมือนเป็นเจ้าของ) Result-oriented (มุ่งผลลัพธ์) Promise and deliver (รักษาสัญญา) Continuous improvement (พัฒนาต่อเนื่อง)  (Do things together) ทำงานร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า No bias (จริงใจ) และ Actively solve the problem (แก้ไขปัญหาเชิงรุก) เพื่อหลอมรวมครอบครัว IRPC ให้เป็น “HR Excellence”

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นอกจากนั้นคุณสุกฤตย์ยังเน้นย้ำการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยจัดสรรงบประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ จากกำไรสุทธิย้อนหลัง 3 ปี จะเป็นงบประมาณในการตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การดูแลจัดการสังคมโดยรอบโรงกลั่นทั้งชุมชนวัด โรงเรียนและสถานพยาบาล การจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี (IRPCT) เพื่อสร้างแรงงานที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ไม่เพียงเท่านั้น IRPC ยังบริจาคเม็ดพลาสติก 25-30 ตันต่อปีให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาเม็ดพลาสติกจาก IRPC สามารถผลิตขาเทียมเพื่อเติมโอกาสให้กับผู้พิการแล้วกว่า 10,000 คู่ พร้อมกันนี้ IRPC ยังได้ริเริ่มโครงการ “ลำไทรโยงโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่บ้านหนองยาง ตำบลลำไทรโยง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ โดยตัวอย่างโครงการที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นก้าวเดินแบบคู่ขนานที่ทาง IRPC ให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาธุรกิจและตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม

คน IRPC ทุกคนตระหนักอยู่เสมอว่า ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานอย่างไร ผ่านการมองหา ศึกษา จากนั้นร่วมกันตั้งเป้าหมายที่ดูท้าทาย โดยต้องไม่ล้มเลิกผลลัพธ์แต่ให้หาวิธีการที่จะก้าวไปถึง หากไม่สามารถทำได้ มองหาความร่วมมือ เพราะไม่มีใครทราบทุกเรื่องเพียงคนเดียว เช่นเดียวกันกับการเดินขึ้นไปบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ทุกคนต้องช่วยกัน บนกรอบพื้นฐานความเชื่อเพื่อ “มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดที่ท้าทาย และยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน”

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว