รีด VAT 10% อี-คอมเมิร์ซต่างชาติ!!

22 ก.ค. 2561 | 12:41 น.
220761-1930

ครม. ฉลุย ก.ม.รีดภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% อี-คอมเมิร์ซต่างชาติ ระบุ ฐานภาษีเกินเอสเอ็มอีเข้าข่าย เปิดช่องออก พ.ร.ฎ. ลดลงได้ทีหลัง ติดดาบสรรพากรส่งแบบประเมินภาษีทางอี-เมล์ เข้มห้ามลักไก่เป็นข้ออ้างเก็บภาษีเพิ่มจากลูกค้า

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ค. 2561 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ ให้มีความเหมาะสมชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการดำเนินการธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน เป็นการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดความเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

 

[caption id="attachment_299894" align="aligncenter" width="503"] พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

ผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมี 2 แบบ คือ 1.เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายสินค้าในประเทศไทย และ 2.เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Google , Amazon กฎหมายนี้กำหนดว่า บริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและเจ้าของแพลตฟอร์มต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และตั้งบริษัทตัวแทนในประเทศไทย เพื่อจ่าย VAT ในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น ซึ่ง ครม. วันนี้อนุมัติในหลักการ เพื่อพัฒนาต่อในเรื่องของรายละเอียด อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังมองว่า อาจจะมีปัญหาในการบังคับใช้กับบริษัทต่างประเทศยาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับทุกประเทศ หลังจากนี้ ครม. จะส่งกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบรายละเอียดและแก้ไขต่อไป

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีทั้งหมด 13 มาตรา มีการเพิ่มเติมคำนิยมคำว่า 'อิเล็กทรอนิกส์' 'แพลตฟอร์ม' และ 'เว็บไซต์' พร้อมกับระบุว่า ให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร รวมทั้งเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด


e-commerce-1606962_960_720

"ให้ใช้อัตราภาษี 10.0% ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกิจการดังกล่าวต้องคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และอัตราภาษีให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกันสำหรับกรณีให้บริการทุกกรณี นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ หรือ ออกใบกำกับภาษี"

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ให้ออกหมายเรียก หรือ หนังสือแจ้งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ให้เสียภาษีอากรถึงบุคคลใดซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร ที่ประกอบกิจการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเสียภาษีอากร ส่วนวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร รวมทั้งเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยื่นชำระผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19-21 ก.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครม. ไฟเขียว รีด Vat อีคอมเมิร์ซต่างชาติ
ครม.เคาะ “กฎหมายรีด Vat” อีคอมเมิร์ซต่างชาติ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว