จี้สอบเชิงลึกนอมินี! ไล่บี้บัญชีที่มารายได้

22 ก.ค. 2561 | 07:27 น.
220761-1412

เอกชนกระทุ้ง 3 กระทรวง เอาจริงตรวจสอบเชิงลึกนอมินีกินรวบธุรกิจคนไทย ด้าน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจงตรวจสอบ 2,136 ราย พิลึกเข้าข่ายแค่ 34 ราย ชลบุรี ภูเก็ต ตราด พบมากสุด! ธุรกิจท่องเที่ยว-อสังหาฯ นำ

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ นักธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ขอให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบปัญหาการทำธุรกิจที่นายทุนต่างชาติใช้คนไทยออกหน้าถือหุ้นใหญ่แทน (นอมินี) เพื่อเลี่ยง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่เบื้องหลังต่างชาติกลับคุมอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของคนไทยมาก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 1.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก่อนรับจดทะเบียนธุรกิจควรเรียกตรวจสอบข้อมูลว่า เงินมาจากแหล่งใด ใครเป็นกรรมการผู้มีอำนาจตัวจริง 2.กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เข้าไปตรวจสอบระบบบัญชีว่า มีรายรับ-รายจ่ายที่มาที่ไปของรายได้ เพื่อเก็บภาษีอย่างถูกต้อง 3.กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ไปตรวจสอบลูกจ้างของบริษัทที่เป็นชาวต่างชาติ ว่า มีใบอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าวถูกต้องหรือไม่และแบบใด เป็นต้น

 

[caption id="attachment_299850" align="aligncenter" width="328"] สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ นักธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์
นักธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศและโลจิสติกส์[/caption]

เรื่องนอมินีไม่ใช่มีแค่เฉพาะจากจีนหรือรัสเซีย แต่เชื่อว่า ยังมีจากประเทศอื่นด้วย ซึ่งนอกจากธุรกิจข้างต้นแล้ว ยังเข้ามาทำธุรกิจด้านเกษตร โลจิสติกส์ และอื่น ๆ ด้วย และหากเป็นนอมินีเศรษฐกิจและการเงินจะหมุนเวียนเฉพาะต่างชาติ ธุรกิจไทยหรือคนไทยได้ประโยชน์น้อยมาก เช่น นายทุนรวมหัวกัน 3-4 คน ใช้นอมินีเปิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นทอด ๆ แยกเป็นหลาย ๆ บริษัท หรือ อาจถือหุ้นไขว้กันเพื่อตบตา เช่น เปิดบริษัททัวร์ สายการบิน รถเช่า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝากของที่ระลึก ส่งต่อลูกค้ากันเป็นทอด ๆ กินรวบ หรือ ผูกขาดธุรกิจไม่ต่างกับทัวร์ศูนย์เหรียญ เรื่องนี้ภาครัฐต้องตรวจสอบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ด้าน นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องนอมินีนี้ กรมมีมาตรการป้องกันและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน เป็นการกู้ยืมมาจากคนต่างด้าว หรือ มีผลกำไรแล้วไม่แบ่งผลกำไร แต่กลับนำไปให้คนต่างด้าวกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย อีกทั้งตรวจสอบทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยมีการกำหนดให้มีหุ้นส่วนเป็นต่างด้าวลงทุนไม่ถึง 50% หรือที่ไม่มีคนต่างด้าวถือหุ้น แต่มีกรรมการเป็นผู้มีอำนาจเป็นคนต่างด้าว ต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรอง หรือ แสดงฐานะทางการเงิน และหลังจดทะเบียนจะต้องมีการจัดทำข้อมูลรายชื่อนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสงสัย หรือ มีการกระทำในลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นนอมินี เพื่อดำเนินการตรวจสอบ

 

[caption id="attachment_299852" align="aligncenter" width="503"] ©Free-Photos ©Free-Photos[/caption]

แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว ตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 50% ช่วงระหว่างปี 2558 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2561 จำนวน 2,136 ราย (กรมพัฒน์ 1,915 ราย กรมการท่องเที่ยว 221 ราย) ผลการตรวจสอบพบมีพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินีเพียง 34 ราย ไม่มีที่ตั้งตามที่จดทะเบียน 21 ราย ดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนสารวัตรบัญชี 298 ราย และยุติเรื่อง 1,783 ราย

ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีธุรกิจเข้าข่ายนอมินีมากสุด ได้แก่ ชลบุรี 17 ราย ซึ่งพบเข้ามาดำเนินการในธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ , ภูเก็ต 8 ราย เป็นธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ รถเช่า ร้านอาหาร ขายของที่ระลึก , ตราด 4 ราย เป็นธุรกิจร้านอาหาร , กระบี่ 2 ราย ทำธุรกิจร้านอาหาร , กรุงเทพฯ 2 ราย ธุรกิจท่องเที่ยว และร้านอาหาร และสุราษฎร์ธานี 1 ราย เป็นธุรกิจท่องเที่ยว


app-MP26-3081-A

อีกทั้งในปี 2558 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งผลการตรวจสอบจำนวน 9 ราย รับเป็นคดีพิเศษ 1 ราย (ธุรกิจท่องเที่ยว) และอยู่ระหว่างการสอบสวน ไม่รับเป็นคดีพิเศษ 8 ราย โดยดีเอสไอได้ส่งเรื่องให้สถานีตำรวจภูธรจังหวัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ส่วนในปี 2560 กรณีเข้าข่ายนอมินี 4 ราย ที่ชลบุรี (ท่องเที่ยว 2 ร้านอาหาร 2) และในปี 2561 เข้าข่ายนอมินี 2 ราย ที่ภูเก็ต (ร้านอาหาร 1 ให้เช่ารถยนต์ 1) ได้รวบรวมหลักฐานส่งให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวน ยังไม่ทราบผลการตรวจสอบ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,385 วันที่ 22-25 ก.ค. 2561 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พาณิชย์เข้มลงพท.ตรวจนอมินีจ.ท่องเที่ยวลุยเชือด2บริษัทในภูเก็ต
คืนความศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายปราบนอมินี


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว