บีบซื้อหุ้น 'มิตซูบิชิ' คืน! บอร์ด กฟผ. ไฟเขียว 'เอ็กโก' ล้างภาพฉาว คาดใช้ 1.4 หมื่นล้าน

22 ก.ค. 2561 | 04:39 น.
220761-1116

บอร์ด กฟผ. จ่อไฟเขียว สั่ง 'เอ็กโก กรุ๊ป' ซื้อหุ้นคืนจากบริษัทย่อยของ 'มิตซูบิชิ' 11.97% มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท หลังมีคดีฉาวจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้! ทำธุรกิจด้วยกันยาก แม้เป็นบริษัทในเครือ ด้าน ป.ป.ช. ลุยสอบพบมีหลายหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น 4-5 ราย เกี่ยวข้อง

คดีฉาวที่ถูกเปิดโปงโดยสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการเขตโตเกียว ได้ดำเนินการสอบสวนข้อกล่าวหาการให้สินบนของเจ้าหน้าที่บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ฯ หรือ MHPS ต่อข้าราชการไทย ซึ่งต่อมาทราบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งอุปกรณ์โรงไฟฟ้าขนอมเครื่องที่ 4 ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นอยู่ราว 25.41% เป็นเรื่องที่กำลังสั่นคลอนวงการพลังงานไทยอีกครั้ง


index_im03

จากที่ก่อนหน้านี้ มีทั้งคดี บริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ จากการให้สินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกกับการประมูลงานอุปกรณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และกรณีการทุจริตโครงการปาล์มน้ำมันของกลุ่ม ปตท. ในอินโดนีเซีย เป็นต้น

ด้วยญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะยอมรับกันได้ และได้ส่งผลถึงบริษัทในเครือมิตซูบิชิในไทยด้วย


บอร์ดไฟเขียวซื้อหุ้นคืน
ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด กฟผ.) วันที่ 23 ก.ค. นี้ ในฐานะที่ กฟผ. เป็นบริษัทแม่ของเอ็กโก จะมีการพิจารณาขออนุมัติให้เอ็กโกซื้อหุ้นคืนจาก บริษัท Diamond Generating Asia, Limited หรือ ดีจีเอ ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Mitsubishi Corporation ที่เข้ามาถือหุ้น 50% ในบริษัท เท็ปเดีย เจเนอเรติ้ง บี.วี. จำกัด หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11.97% (ปัจจุบัน เท็ปเดียถือหุ้นในเอ็กโก 23.94%) เนื่องจากรับไม่ได้กับคดีที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นบริษัทในเครือมิตซูบิชิก็ตาม

 

[caption id="attachment_299832" align="aligncenter" width="503"] วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. และประธานบอร์ดเอ็กโก วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. และประธานบอร์ดเอ็กโก[/caption]

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. และประธานบอร์ดเอ็กโก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นถึงการจ่ายสินบนของ MHPS แม้จะไม่มีการกระทำผิดของ บริษัท เอ็กโกฯ ก็ตาม แต่ก็ได้มอบหมายให้ทั้ง กฟผ. และเอ็กโก ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดอีกครั้ง และนำมารายงานให้บอร์ด กฟผ. รับทราบ ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. นี้ ว่า คดีที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และเอ็กโกเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

ทั้งนี้ จากคดีการจ่ายสินบนที่เกิดขึ้น และมีการพิจารณาในชั้นศาลของประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าทาง MHPS จะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงในเอ็กโกก็ตาม แต่ในฐานะที่มิตซูบิชิ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ถือหุ้นผ่านบริษัทลูกในเอ็กโก เมื่อมีบริษัทในเครือมิตซูบิชิกระทำผิดย่อมส่งผลกระทบถึงภาพรวมทั้งหมดด้วย


Screen Shot 2561-07-22 at 11.22.16

กู้ภาพลักษณ์องค์กร
ดังนั้น ในการประชุมบอร์ด กฟผ. ที่จะเกิดขึ้น จะมีการเสนอวาระจร เพื่อขอที่ประชุมอนุมัติให้เอ็กโกไปขอซื้อหุ้นคืนจาก บริษัท ดีจีเอฯ ซึ่งถือหุ้นอยู่ในเอ็กโก 11.97% หรือราว 63.025 ล้านหุ้น เนื่องจากบริษัทในเครือเดียวกันมีภาพลักษณ์ที่เสียหาย การจะทำธุรกิจด้วยกันต่อไปจึงเป็นเรื่องยาก

ส่วนทางบริษัท ดีจีเอฯ จะขายหุ้นคืนมาให้หรือไม่นั้น คงไม่น่ามีปัญหา ในเมื่อสถานการณ์ออกมาเช่นนี้ โดยที่ผ่านมา MHPS เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์หลักต่าง ๆ อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ให้กับโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 ของเอ็กโก ที่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 แล้วเสร็จในปี 2559

 

[caption id="attachment_299835" align="aligncenter" width="432"] โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าขนอม[/caption]

สำหรับราคาหุ้นของ บริษัท เอ็กโกฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ปิดตลาดที่ 227 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากคำนวณราคาหุ้นที่จะขอซื้อคืนจะตกอยู่ราว 1.43 หมื่นล้านบาท


ป.ป.ช. ลุยสอบหาคนผิด
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ฯ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย 20 ล้านบาท เมื่อปี 2556 ว่า กรณีดังกล่าวมีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. ระยะหนึ่งแล้ว โดยได้มีการประสานกับทางอัยการญี่ปุ่น และ ป.ป.ช. ได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 80% เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น กรมเจ้าท่า หน่วยงานในท้องถิ่น และหลายหน่วยงาน มีบุคคลที่อยู่ในข่ายเกี่ยวข้องกับการเรียกรับสินบน 4-5 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับพื้นที่ กรณีนี้ถือว่าสร้างผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะเกี่ยวพันกับการให้สินบนข้ามชาติ

 

[caption id="attachment_299836" align="aligncenter" width="215"] วิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง วิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง[/caption]

ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดนั้น ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ แต่ที่ดำเนินการสอบสวนไปนั้น มีความคืบหน้ามาก เหลือเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดโอกาสให้เข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

"เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตรง ๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ฝ่าฝืนกระทำ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบการลงทุนในประเทศไทย ว่า เราจะให้ความเป็นธรรมกับเขา ไม่มีการเรียกสินบน แต่เมื่อมีกรณีแบบนี้ เราจะต้องให้ความสำคัญและจะขยายผลไปยังสถานที่อื่น ๆ ด้วย" นายวิทยา กล่าว


com_logo01
ออกหนังสือชี้แจง
ขณะที่ บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ซิสเต็ม ประเทศไทยฯ ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีติดสินบนการนำเข้าเครื่องจักรโรงไฟฟ้าขนอม 4 ว่า ได้ให้ความร่วมมือกับสำนักอัยการญี่ปุ่นในการดำเนินการสอบสวนคดีติดสินบน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่และชุมชนท้องถิ่นใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. 2558 เมื่อ MHPS และผู้รับเหมาได้พยายามขนถ่ายเครื่องจักรขนาดใหญ่จากโรงไฟฟ้าขนอม 4 ไว้ที่ท่าเรือชั่วคราว ใกล้เขตก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งพนักงาน MHPS และผู้รับเหมาได้มีการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยไม่ได้ปรึกษาลูกค้า ทางบริษัทจึงขออภัยอย่างยิ่งสำหรับความไม่สะดวกที่เกิดกับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องจากการรายงานข่าวที่ต่างกับข้อเท็จจริง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,385 วันที่ 22-25 ก.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“กัลฟ์” ยืนยันไม่เกี่ยวข้อง “มิตซูบิชิฯ” จ่ายสินบนเเลกงาน
ชงตั้ง 2 โรงไฟฟ้าก๊าซ! กฟผ. ผนึก ปตท. ดันเข้าพีดีพี พร้อมโซลาร์ลอยน้ำ 11 เขื่อน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว