นายกฯยันไม่นอนใจช่วยปชช.หาทางเเก้หนี้

21 ก.ค. 2561 | 06:26 น.
นายกฯยันไม่นอนใจช่วยปชช.หาทางเเก้หนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่า”แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จะดีขึ้น แต่ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือน ในประเทศไทย ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 นั้น เรายังถือว่า “ทรงตัว” จากช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ตัวเลขสัดส่วนมูลค่าหนี้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับ GDP หรือ “รายได้รวมของประเทศ” จะลดมาเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 78 เหลือร้อยละ 77.6 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูงนะครับ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของพี่น้องประชาชนนั้น ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะสัดส่วนหนี้เสียยังไม่ปรับตัวลดลง ภาครัฐเองก็มีความห่วงใยนะครับ เพราะถือเป็นภาระในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ติดตามประเด็นนี้ อย่างใกล้ชิด และได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ ที่เป็นภาระและส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก โดยการแก้ไขปัญหา “หนี้นอกระบบ” นั้น รัฐบาลและ คสช. ก็ได้เร่งดำเนินการอย่างจริงจังนะครับ และเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดสร้างกลไกการทำงานแบบบูรณาการ ของ กอ.รมน. - ตำรวจ - ทหาร และส่วนราชการในพื้นที่ลงไปเพื่อจะลงไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อจะให้ความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง

tu21-7

ที่ผ่านมาก็มีสถิติจำนวนนายทุนปล่อยหนี้เงินกู้นอกระบบ ทั้งสิ้น 15,000 กว่ารายนะครับ มีลูกหนี้รวม มากกว่า 350,000 ราย คิดมูลค่าหนี้ทั้งหมดเกินกว่า 21,000 ล้านบาท การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เราจะต้องเริ่มจากการจำแนกสภาพหนี้ เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย หรือทำการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างของหนี้ และการชำระหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาชำระให้ยาวนานออกไป หรือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยยึดหลักการว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ หากลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทางทีมงาน ก็จะประสานขอสินเชื่อจากภาครัฐให้ ในขณะที่เจ้าหนี้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างความเป็นธรรม ก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินการให้ถูกต้อง ต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ ที่ประสบปัญหา เป็นกลุ่มเกษตรกร ที่ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายนะครับ ทำให้อาจต้อง “ขายฝาก” โฉนดที่ดินกับเจ้าหนี้นอกระบบ เมื่อมีปัญหาในการชำระหนี้ ก็จะลุกลามเป็นภาระมากขึ้น ไม่สามารถใช้ที่ดินทำมาหากินได้ เช่นเดิม

ลูกหนี้อีกส่วนหนึ่ง เป็นกลุ่มที่กู้เงินมาใช้จ่าย ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่พอเพียง ไม่เป็นการลงทุน หรือสร้างรายได้ในอนาคต ก็ทำให้ยากนะครับ ที่จะนำเงินมาชำระหนี้ ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ จากลูกหนี้นอกระบบทั้งหมดในฐานข้อมูลของภาครัฐ ประมาณ 350,000 ราย ได้รับการช่วยไกล่เกลี่ยไปแล้ว หรือ ทำข้อตกลงประนอมหนี้ไปแล้ว กว่า 55,000 ราย ที่เหลือก็จะได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ต่อเนื่องนะครับ รายที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ก็มีการติดตามดูแล ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้จนเกินตัวอีก ดังนั้นพี่น้องประชาชนที่ยังเป็นหนี้นอกระบบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องการความช่วยเหลือและ ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถติดต่อ ณ ศูนย์ดำรงธรรม หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ได้

debt1

สำหรับด้าน “หนี้ในระบบ” ธนาคารปัจจุบันนั้น ภาครัฐมีโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน จนกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภายใน 90 วัน และเป็นหนี้เสียอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก็สามารถมาขอรับความช่วยเหลือในการประนอมหนี้ เพื่อดูแลปัญหาให้ได้ข้อยุติในคราวเดียวได้ รวมถึงเพื่อให้สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการได้รับความรู้ เสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีต่อไป

เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ล่าสุดได้มีการปรับคุณสมบัติของผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ “มากขึ้น” อาทิ ให้ครอบคลุมผู้ประกอบ “อาชีพอิสระ” ที่มีรายได้ด้วย และขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “หนี้เสีย” ที่เกิดขึ้นก่อน 1 เมษายน 2561 นี้ อีกทั้ง ผ่อนผันให้ลูกหนี้ ที่แม้จะถูกดำเนินคดีแล้ว แต่ยังไม่มีคำพิพากษา ก็สามารถสมัครเข้าโครงการได้เช่นกัน

โดยผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ หรือต้องการข้อมูลความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ รวมถึงการออม สามารถติดต่อสอบถาม การดำเนินโครงการคลินิกแก้หนี้ นี้เราจะไม่ทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้เพื่อนำไปชดใช้หนี้ที่ค้างชำระอยู่ แต่ให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้ตามกำลังของตนเอง โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) นะครับ เป็นหน่วยงานกลาง คิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 4 - 7% ต่อปี ด้วยระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้สูงสุด ไม่เกิน 10 ปี อีกทั้ง การให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อนำไปเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่

นอกจากโครงการคลินิกแก้หนี้ดังกล่าว ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชนทั่วไป รัฐบาลยังพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอีกด้วย อาทิ หนี้ใน “กลุ่มครู” ที่เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อจะลดความกังวล และภาระในการดำรงชีวิต ที่สามารถทำหน้าที่การเป็น “แม่พิมพ์” ที่ดีของเด็กๆ ได้เต็มศักยภาพ

debt3

เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามีครูเป็นหนี้ ทั้งในและนอกระบบ และมีมูลค่าหนี้อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นหนี้สิน ของโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) นะครับ ที่มีผู้กู้อยู่กว่า 5 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้เสีย มากกว่า 5,000 ล้านบาท ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้พยายามใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระ ให้กับ “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่มีหนี้ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการลดภาระหนี้ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยการให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อนำไปชำระหนี้โครงการ ช.พ.ค. เดิม และเพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือน แต่ยังมีผู้มาร่วมโครงการไม่มากนัก

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ก็มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ ที่มีปัญหาผ่อนชำระจนกลายเป็น “หนี้เสีย” สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ แล้วก็พักชำระ “เงินต้น” ไม่เกิน3 ปี แต่ยังชำระ “ดอกเบี้ย” บางส่วน หรือเต็มจำนวน เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ได้ให้ธนาคารออมสิน นำเงินสนับสนุนที่เคยได้รับจากโครงการ ช.พ.ค. ไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม ร้อยละ 0.5 - 1.0 คิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ด้วย

สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ และ มาตรการแก้ไขหนี้ต่างๆ ที่รัฐบาลนี้ ได้ริเริ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงการพยายามแบ่งเบาภาระ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ “ปลายเหตุ” เท่านั้น ด้วยการช่วยเข้าไปผ่อนผันให้สามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถ โดยไม่ได้รับความเดือดร้อนจนเกินไป แต่ก็ยังคงเป็นภาระของพี่น้องประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่ดี ดังนั้น การแก้ปัญหาการก่อหนี้เกินตัวที่ “ต้นเหตุ” จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะไม่ส่งผลเสียอื่นๆ ลุกลามเป็นลูกโซ่ ก็คือ การพยายามไม่เข้าสู่ “วงจร” การเป็นหนี้ โดยต้องเริ่มจากตัวเราทุกคนเอง

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ภาครัฐก็จะมีบทบาทในการสนับสนุนอีกแรงหนึ่งนะครับ ทั้งนี้เราต้องยอมรับกันว่า การก่อหนี้ในหลายกรณี เป็นความจำเป็น โดยเฉพาะจากความเดือดร้อนที่เป็นผลจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตเสียหาย เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ภาครัฐเองก็ได้พยายามเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยังมีกรณีการกู้ยืมทั่วไป ที่อาจไม่ใช่เพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งทำอย่างไร เราจะป้องกันการเป็นหนี้ในลักษณะเช่นนี้ ที่อาจกลับมาเป็นภาระกับเรา “โดยไม่จำเป็น” หลาย ๆ คนพูดกันถึงเรื่องการมีวินัยทางการเงิน และการออมเพื่อวันหน้า แต่สำหรับหลายครัวเรือน ของผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนจะทำได้ยากนะครับ สำหรับผม สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ศาสตร์พระราชา” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทย มาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต เริ่มจากการมีสัมมาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ และ หาทางเพิ่มรายได้ เมื่อมีโอกาส พยายามใช้จ่ายอย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น มีการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวเห็นรายได้ และรายจ่ายแต่ละรายการ สามารถจะวางแผนการใช้จ่ายและ การสร้างรายได้ ในอนาคตได้ แล้วก็เตรียมการเรื่องเงินออมด้วย

สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนมองว่า ความแน่นอน ก็คือความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีเหตุ ให้ต้องจับจ่าย เจ็บป่วย ในเรื่องฉุกเฉินใช้สอยต่าง ๆ เมื่อใด การรู้จักใช้ รู้จักออม จะช่วยให้เราสามารถรองรับความไม่แน่นอนของชีวิตได้ดีขึ้น หากเราไม่เป็นหนี้ พอมีสินทรัพย์ พอมีเงินออม ก็อาจทำให้เราสบายใจ นอนหลับได้สบายขึ้น หากมีเหตุสุดวิสัย ก็พอมีทุนรอนพอรองรับไปได้บ้างนะครับ การออมนี้สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งการออมเงินสดในบัญชี การซื้อหุ้น การซื้อประกันชีวิต หรือแม้กระทั่ง การปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีกฎหมายรองรับให้ถือเป็นสินทรัพย์ และหลักประกันได้ ลองมอง และวางแผนชีวิตให้ยาวขึ้นดู”

e-book-1-503x62