เร่งพัฒนากำลังคน 14 โครงการนำร่องรับอุตฯเป้าหมาย

28 ก.ค. 2561 | 23:01 น.
การพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัยและเทคโนโลยี ถือเป็น เรื่องสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี (ปี 2560-2564) ภายใต้กรองงบประมาณ 6,780 ล้านบาท จำนวน 67 โครงการ ซึ่งการดำเนินงานมีทั้งระยะเร่งด่วน และแผนงานระยะกลาง เพื่อผลิตกำลังคนให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ครม.ไฟเขียวงบ390ล้าน

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบ จำนวน 390.48 ล้านบาท เพื่อนำมาขับเคลื่อนแผนในระยะเร่งด่วนในปีนี้ จำนวน 14 โครงการ ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย 1.โครงการแผนพัฒนาบุคลากรครูเพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ จำนวน 14.39 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สำหรับการจ้างที่ปรึกษาจัดทำการศึกษาความเหมาะสมแผนการพัฒนาบุคลากรด้านช่างอากาศ ช่างอุปกรณ์สนับสนุน เพื่อป้อนให้กับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(เอ็มอาร์โอ)

2.โครงการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีดิจิตอล จำนวน 93.59 ล้านบาทโดยการจัดตั้งศูนย์ EEC Digital Training Hubที่เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา พัฒนาหลักสูตร Internet of Things ระดับอุดมศึกษา รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล 3.โครงการสร้างและพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของภาคเอกชนผ่านกลไก Train-the-Trainer จำนวน 2.5 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าหลักสูตรฝึกอบรมเฉพาะทางแก่ภาคเอกชน TP11-3385-B

4.โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา จำนวน 6.23 ล้านบาท ใช้เป็นค่าใช้จายในการบริหารจัดการศูนย์ และการฝึกอบรมและจัดทำหลักสูตรระยะสั้น และสำรวจการมีงานทำของบัณฑิตในเขตอีอีซี 5.โครงการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ทางด้านการเงิน การลงทุน เศรษฐกิจ สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อการพัฒนาบุคลากร จำนวน 147.77 ล้านบาท ใช้สำหรับการปรับปรุงสถานที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อให้มีความพร้อมเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักลงทุน
ปั้นโรงเรียนสัตหีบโมเดล

6.โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่
อีอีซี จำนวน 6 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของปีนี้ 7.โครงการโรงเรียนเอกชนต้นแบบในอีอีซี จำนวน 28.85 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายปรับปรุงโรงเรียนสัตหีบ ให้เป็นโรงเรียนเอกชนต้นแบบ 8.โครงการพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานด้านภาษีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และการประกอบอาชีพใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 20.84 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาสถานีศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการประกอบอาชีพ

9.โครงการพัฒนาทักษะที่พึงประสงค์ในการทำงาน 8.21 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมในสาขาวิชาอุตสาหกรรมภาคบริหารเช่น ด้านบัญชีสมัยใหม่ เลขานุการและการพัฒนาสำนักงานดิจิตอลด้านดิจิตอล และด้านอาหารและโรงแรม 10.โครงการบูรณาการจัดการเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการเขตจังหวัดชลบุรี สำหรับสร้างแรงจูงใจในการเรียนอาชีวศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 11.6 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการในการสร้างหลักสูตรและบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ

11.โครงการเพิ่มพูนความสามารถทางภาษีอังกฤษด้วยกระบวนการ SMART STEMS ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในอีอีซี จำนวน 11.79 ล้านบาท ใช้เป็นค่ากิจกรรมและอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับทักษะภาษาอังกฤษ 12.โครงการพัฒนาหลักสูตรรองรับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการชั้นนำของโลกและของประเทศ จำนวน2.65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมให้เป็นระบบและครบวงจร
ดึงนักวิจัยชั้นนำจากตปท.

13.โครงการสนับสนุนอาจารย์ นักวิจัยชั้นนำ จากสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยในประเทศไทย จำนวน 21.6 ล้านบาท ใช้เป็นค่าตอบแทนให้กับอาจารย์นักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศจำนวน 3 คน ในช่วงปีนี้ และ 14.โครงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษา และอุตสาหกรรมในอีอีซี จำนวน 14.4 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เป็นต้นมา

 รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

……………….……………….……………….….……………….

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,385 วันที่ 22-25 ก.ค. 2561 e-book-1-503x62