ถอดบทเรียนเรือล่มภูเก็ต ยกระดับท่องเที่ยวทางทะเล ‘อันดามัน’

21 ก.ค. 2561 | 02:42 น.
2632632626596 431012

แม้ภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุมรสุมเรือล่ม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ภารกิจใหญ่ที่กำลังจะตามมาคือ “การยกระดับความเชื่อมั่นความปลอดภัยเรื่องของการท่องเที่ยวทางทะเล” ที่ต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

431089
เร่งพัฒนาริสต์แบนด์จีพีเอส

โดยสิ่งแรกที่ทำทันที คือ การจัดระบบการลงเรือ ซึ่งงานนี้พ่อเมืองภูเก็ต “นรภัทร ปลอดทอง” ประกาศชัดว่านอกจากเรือท่องเที่ยวทุกลำที่จะออกจากท่า ต้องมีจุดเช็กพอยต์ตรวจคนตรวจเรือ ตรวจผู้โดยสารทุกคนเพื่อดูแลความปลอดภัยแล้ว ต่อไปท่าเรือต่างๆ ต้องนำเทคโนโลยีจีพีเอส ในลักษณะการจัดทำสายรัดข้อมือ (ริสต์ แบนด์) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามตัวนักท่องเที่ยวอย่างแม่นยำ ซึ่งแน่นอนว่าต้องนำร่องโดยท่าเรือหลักที่บริหารโดยเอกชนก่อนไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรืออ่าวปอ และท่าเทียบเรือรัษฎาก่อน

432259

นายไชยา ระพือพล ผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ต พัชทรี ทัวร์ กรุ๊ป จำกัด เผยว่า ภายในอีก 3 สัปดาห์จากนี้นักท่องเที่ยวที่มาขึ้นเรือ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จะต้องใส่ ริสต์ แบนด์ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด มูลค่า 100 บาทต่อเส้น ภายในมีข้อมูลพื้นฐานของนักท่องเที่ยวแต่ละคน เพื่อให้ทราบตัวตนของนักท่องเที่ยวหากเกิดเหตุฉุกเฉินกลางทะเลและการดูแลความปลอดภัย โดยคนที่จะดึงข้อมูลมาได้จะมี 3 โรงพยาบาลในภูเก็ต คือ มิชชั่น, กรุงเทพ, สิริโรจน์ และสถานีตำรวจ และสเต็ปต่อไปก็จะพัฒนาใช้จีพีเอสในการติดตามตัวนักท่องเที่ยวผ่านริสต์แบนด์ดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้

พ.อ.อรัญ เอี่ยมอิ่มสำราญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีทราน ทราเวลฯ ผู้บริหารท่าเทียบเรือรัษฎา กล่าวว่าที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการที่ท่าเรือ จะได้รับคีย์การ์ด สำหรับเสียบก่อนขึ้นเรือ เพื่อเป็นการนับ จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการเรือแต่ละลำที่มาจอดให้บริการที่ท่าเทียบเรือแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เรือที่ให้บริการจะเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่มีขนาดสูงสุดรับได้ 500-600 คนเดินทางไปเที่ยวเกาะพีพี สปีดโบต และเรือ ไดวิ่ง อีกทั้งในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาที่จะจัดทำสายรัดข้อมูลติดจีพีเอส เพื่อติดตามนักท่องเที่ยวซึ่งมาใช้บริการที่ท่าเรือแห่งนี้ราว 9 แสนคนต่อปี

432258
เล็งผุดศูนย์แห่งใหม่ที่พังงา

ขณะที่การลงทุนของภาครัฐต่อเรื่องการรักษาความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเล ก็ถึงเวลาต้องสังคายนากันอย่างจริงจัง โดยวันนี้นอกจากศูนย์เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต จะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทั้งระบบติดตามเรือ เรดาร์ กล้องวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ล่าสุดทางจังหวัดภูเก็ต ยังเตรียมของบจากรัฐบาลราว 427 ล้านบาทในการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ที่เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา เพื่อเชื่อมโยงครอบคลุมอ่าวพังงา และเกาะต่างๆ ในกระบี่

กรมเจ้าท่ารีเซตการทำงาน

นอกจากนี้การทำงานของกรมเจ้าท่าเอง ก็ต้องรีบูตครั้งใหญ่ เพราะด้วยงบประมาณที่ได้รับจำกัด ทำให้ระบบการทำงานใน 23 สถานีในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ ปัจจุบันเพิ่งรีเซตกลับมาได้เพียง 8 สถานี ซึ่งกรมเจ้าท่าต้องดำเนินการของบเพิ่มเติมเพื่อฟื้นการทำงานให้สมบูรณ์และจะของบให้ครอบคลุมไปยังจ.สตูลด้วย ส่วนช่องว่างทางกฎหมายที่กรมเจ้าท่าไม่มีอำนาจบังคับไม่ให้เรือออกจากท่า รวมถึงการแจ้งเตือนต่างๆ ต่อไปก็ต้องปรับปรุงเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนมากขึ้น

การยกเครื่องที่เกิดขึ้น ถือเป็นการถอดบทเรียน พลิกวิกฤติมาเป็นโอกาสในการยกระดับการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งลงทุนแค่นี้ถือว่าเกินคุ้ม หากเทียบกับภูเก็ตที่สร้างรายได้เข้าประเทศร่วม 4.23 แสนล้านบาทต่อปีจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทย-เทศ ที่เดินทางเข้าไปเที่ยวกว่า 14 ล้านคนต่อปี

432262

เอกชนชี้บุ๊กกิ้งใหม่รอดูท่าที

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยบริการการท่องเที่ยว  (แอตต้า) เผยว่า จากกรณีเรือล่มจะกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะฟื้นความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวจีนได้เร็วแค่ไหน โดยต้องทำให้นักท่องเที่ยวทั้งจีนและทุกชาติเกิดความเชื่อมั่นเรื่องความปลอด ภัยเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล และต้องเป็นไปตามระดับมาตรฐานสากลและยกระดับเรื่องความปลอดภัยให้เป็นวาระแห่งชาติ

รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์ เรือ รถ ถ้าพบว่าไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

อีกทั้งการที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บินไปชี้แจงก็น่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น คาดว่าจะเริ่มมีบุ๊กกิ้ง ก็เดือนกันยายนและตุลาคมนี้ ซึ่งเข้าช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจีน

การยกเลิกเดินทางมาเมืองไทยคงจะกระทบระยะสั้น 1-2 เดือน นักท่องเที่ยวที่ซื้อทัวร์ไว้แล้วก็ยังคงเดินทางมาไทย แต่บุ๊กกิ้งใหม่ยังไม่เข้าคงรอดูสถาน การณ์ ซึ่งประเมินแล้วทั่วประเทศมีการยกเลิกไปพอสมควร ภูเก็ต เกาะสมุย พัทยาจะมากกว่าที่อื่น

431088

ทั้งยังมั่นใจว่าสิ้นปีนักท่องเที่ยวจีนยังมาไทยไม่ตํ่ากว่า 10 ล้านคนและมีโอกาสถึง 11 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าปีนี้อาจจะมีโอกาสถึง 12 ล้านคนนางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิกรมารีน จำกัด เผยว่า ล่าสุดหลังจากเปิดท่าเทียบเรืออ่าวฉลองเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากที่ปิดท่าเรือไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 พบว่ามีนักท่องเที่ยวใช้บริการ 300 คนต่อวัน ลดลงจากปกติก่อนเรือล่ม ซึ่งโลว์ซีซันมีนักท่องเที่ยว 500-600 คนต่อวัน เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น หรือราว 1 เดือน

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า จากการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบของภาครัฐและเอกชนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้ ในระดับหนึ่ง ส่วนเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ลงที่สนามบินกระบี่จากจีน ทั้งเซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉินตู หลังเที่ยงคืนวันละ 7-12 เที่ยวต่อคืนยังคงมีอยู่ แต่ผู้โดยสารไม่เต็มลำ และ 70-80% เดินทางต่อไปภูเก็ต

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3385 ระหว่างวันที่ 22 - 25 ก.ค. 2561

e-book-1-503x62