หวั่นทุบเคมีเกษตรแสนล้าน - 8 สมาคมผนึกกำลังยื่นค้านร่างพ.ร.บ.เกษตรยั่งยืน

28 ส.ค. 2561 | 05:41 น.
8 องค์กร ผวากระทบตลาดเคมีเกษตรแสนล้านยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีเกษตรฯคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน นายกอาหารสัตว์ชี้เข้าทางเอ็นจีโอ “ประพัฒน์” ยันไม่ซํ้าซ้อนสภาเกษตรกร

แหล่งข่าวจาก 1 ใน 8 องค์กร ที่คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ....เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ทาง 8 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย และนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกร ได้ยื่นเรื่องผ่าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หลังมีการนำเสนอร่างนี้ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ TP8-3385-A

ทั้งนี้สาระสำคัญที่คัดค้าน เนื่องจากหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้เกิดการจำกัดหรือลิดรอนสิทธิของเกษตรกร ที่ไม่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมในกลุ่มเกษตรกร และส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรทั่วไป มองว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อาทิ กำหนดกฎหมายต้องไม่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก้เหตุ (มาตรา 26) และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ (มาตรา 40) เป็นต้น mSQWlZdCq5b6ZLkrhDsrLjGkdOsZg5qT

“ร่างดังกล่าวมีเนื้อหามุ่งส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมเฉพาะด้านและเกษตรกรบางกลุ่ม โดยให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนตามพระราชบัญญัตินี้และรูปแบบของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ลักษณะ ประเภท ชนิด ปริมาณ ขนาด หรือหลักเกณฑ์อื่นใดที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ยังจะกระทบกับตลาดเคมีภัณฑ์เกษตรทั้งปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงถึงปีละกว่าแสนล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)”

สอดคล้องกับนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่กล่าวว่า ในกฎหมายฉบับนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ เป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มองว่าจะซํ้าซ้อนกับสภาเกษตรกรแห่งชาติที่มีอยู่แล้ว ถามว่าทำไมจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาอีก  และการออกกฎหมายฉบับนี้มีเงื่อนงำในหลายมาตรา ทั้งคณะกรรมการที่จะเข้าไปนั่ง  ไปรับรององค์กรเฉพาะกลุ่มให้มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้จัดตั้งขึ้นมาลักษณะเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ หากกำหนดนโยบายอะไรเชื่อจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันของเอกชน mSQWlZdCq5b6ZLkleDb8MJmzMp20S4sU

ขณะนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทางสภาเกษตรกรฯ เป็นผู้นำไปเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายรับรองและดูแลคนกลุ่มนี้ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืน ก็คือระบบการทำการเกษตรในเชิงผสมผสานและเกื้อกูลกัน คำนึงถึงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ หลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยอาหาร รูปแบบของเกษตรยั่งยืน เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และอื่นๆ ยืนยันว่าการทำงานไม่ซํ้าซ้อนกับสภาเกษตรกรฯ

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,385 วันที่ 22-25 กรกฎาคม 2561