จง-ไท้ อี้เจียซิน ไทย – จีนครอบครัวเดียวกัน ร่วมฉลองตรุษจีน กงสี่ฟาไฉ

07 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
โคมสีแดงที่ประดับประดาตามท้องถนน สัญลักษณ์ที่รับรู้กันว่าวันปีใหม่ของจีนหรือที่คนไทยเรียกกันจนชินปากว่า “วันตรุษจีน” กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว จนทำให้ดูคล้ายกับว่าคนไทยเองก็มีความสุขและตื่นเต้นไปกับการเฉลิมฉลองของคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยเช่นกัน

หากแยกนับพื้นที่ของประเทศไทยโดยใช้หน่วยเป็นจังหวัด นับได้ว่าประเทศไทยมีชุมชนคนจีนที่แข็งแกร่งกระจายอยู่รวมๆ กันมากกว่า 77 จุด ไม่นับรวมชุมชนหรือย่านย่อยๆ ที่มีการจัดกิจกรรมและมีความงดงามทางศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ดุจดอกไม้สีแดงสดบนต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อว่าประเทศไทย

[caption id="attachment_30067" align="aligncenter" width="500"] บรรยากาศไทย - จีน บรรยากาศไทย - จีน[/caption]

การหลอมรวมเป็นหนึ่งของประชาชนสองสัญชาติเริ่มต้นมาแล้วประมาณ 1,000 ปีก่อน เมื่อครั้งที่พ่อค้าชาวจีนล่องเรือสำเภาผ่านเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า ทำการค้าขายจนเข้ามามีบทบาทในหลายอุตสาหกรรมของประเทศตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี ล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรีและช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนการค้าขายของพ่อค้าชาวจีนได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ เนื่องจากการดำเนินการค้าในขณะนั้นทักษะเชิงพาณิชย์ของชาวจีนล้วนมีประโยชน์ยิ่ง จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนอพยพในดินแดนสยามได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจอย่างเสรี จนกล่าวได้ว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงที่คนจีนหลั่งไหลเข้ามาในดินแดนสยามเป็นจำนวนมาก

ด้วยอุปนิสัยที่ยึดมั่นในปณิธาน ขยัน ซื่อสัตย์ กตัญญู มีความตั้งใจริเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้อาณาจักรของคนจีนเริ่มแผ่ขยายไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กอรปกับความเชื่อ วิถีชีวิต ศาสนา ที่คล้ายคลึงกันบวกกับมิตรจิตและน้ำใจอันดีของชาวไทยที่เรียนรู้และช่วยเหลือกันเรื่อยมาเกิดเป็นความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม เป็นความผูกพันทางสายเลือด เป็นความสัมพันธ์เหนียวแน่นที่ร่วมกันสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น

สำหรับความเป็นมาของวันตรุษจีนนั้น เล่ากันว่าในสมัยโบราณ มีสัตว์ป่าตัวหนึ่งที่เรียกว่า “เหนียน” มีความดุร้ายและน่ากลัวมากมักออกมาอาละวาดและกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษและอนุญาตให้ลงมาจากภูเขาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เมื่อทราบดังนั้นในช่วงรอยต่อของฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ชาวบ้านต่างสะสมเสบียงอาหาร ปิดประตูลั่นกลอนอยู่ภายในตลอดทั้งคืน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกันที่ปลอดภัย รอดชีวิตจากการทำร้ายของเหนียน

ต่อมาชาวบ้านพบว่าเหนียนมีจุดอ่อน เมื่อได้ยินเสียงเปรี้ยงปร้างก็จะตกใจเผ่นหนีไป และเมื่อเหนียนไปถึงหน้าบ้านที่มีชุดสีแดงตากไว้ ด้วยความฉูดฉาดของสีเหนียนก็ตกใจ จนมาถึงหมู่บ้านที่สามมีการก่อกองเพลิงไว้บนถนน แสงเพลิงที่สว่างไสวทำให้เหนียนเผ่นหนีไปอีก นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของสัญลักษณ์และวิถีปฏิบัติต่างๆ เมื่อวันเดือนปีเคลื่อนคล้อยมาถึงวันตรุษจีน คนจีนและคนผู้มีเชื้อสายจีนทุกคนต่างมุ่งหน้ากลับบ้าน ไปร่วมกันประดับประดาหน้าบ้านและตัวอาคารด้วยกระดาษสีแดง โคมไฟสีแดง มีการจุดประทัดและตีซ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดไฟสว่างไสวตลอดทั้งคืน เมื่อก้าวถึงวันใหม่ก็ทำอาหารร่วมกันและเฉลิมฉลองไปพร้อมกับคำอวยพรที่จะนำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตในปีต่อๆ ไป

จริงๆ แล้วการเฉลิมฉลองในเทศกาลวันตรุษจีนกินเวลามากถึง 15 วันในประเทศจีน แต่สำหรับคนไทยแล้วเรารู้กันโดยทั่วไปว่าในเทศกาลนี้จะมีวันสำคัญๆ อยู่ 3 วันก็คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ซึ่งในปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ ผลไม้ที่นิยมนำมาใช้ในการไหว้ของชาวจีนยังมีความหมายลึกซึ้งแฝงอยู่ อย่าง ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า “โชคดี” องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า “งอกงาม” สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา และ กล้วย มีความหมายถึง การมีลูกหลานสืบสกุล นอกจากนั้นยังมีอาหารมงคลอีกมากมาย อาทิ เกาลัด หมายถึง เงิน ปลาทั้งตัว เป็นตัวแทนของการอยู่ร่วมกันและความอุดมสมบูรณ์ ส่วนเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงตรุษจีนอย่าง ไก่ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

เหนือสิ่งอื่นใดไม่ว่าจะมีเชื้อสายจีนหรือไม่หนึ่งสิ่งที่ใครหลายคนรอคอยหนีไม่พ้นซองสีแดงสดที่ชื่อว่า “อั้งเปา” ที่จำนวนงินในซองมักเป็นเลขคู่ ส่วนเลขมงคลต้องยกให้เลข 8 ตรงกับวันตรุษจีนวันที่ 8 ปีนี้พอดี ได้มากได้น้อยระวังเที่ยวเพลิน เก็บออมเพื่อต่อยอดเงินทุนระยะยาวกันไว้ด้วย ขอส่งท้ายด้วยคำอวยพรแบบจีน ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ ปีใหม่นี้ คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนา มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปีนะคะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559