พลศึกษาและกีฬา พัฒนาคน พัฒนาชาติ 

30 ก.ค. 2561 | 01:32 น.
หากพูดถึง “พลศึกษาและกีฬา”กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทุกสิ่งในวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ การสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจเพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมกีฬามีมูลค่ามหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ช่วยให้คนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง สมบูรณ์ และมีพลังในทุกครั้งเมื่อออกกำลังกาย

อย่างไรก็ดีสิ่งดังกล่าวยังแฝงไปด้วยนัยของบทเรียนที่มีคุณค่าทางทัศนคติทั้งความตั้งใจและมุ่งมั่น การมีวินัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การมีน้ำใจทั้งต่อเพื่อนร่วมแข่งขันและสังคม ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการยอมรับต่อการพ่ายแพ้และถ่อมตนเมื่อชนะ” หนึ่งมุมคิดจาก นายปริวัฒน์ วรรณกลาง ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬามวยไทยชิงชนะเลิศ มหาวิทยาลัยโลก ที่ฉายภาพถึงความหมายของพลศึกษาและกีฬาให้เห็นอย่างเด่นชัดและสามารถนำไปปรับใช้จริงในชีวิตประจำวัน

IMG_7884 นายปริวัฒน์ เผยต่ออีกว่า สำหรับสถาบันการพลศึกษา เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากร และบัณฑิตด้านพลศึกษา กีฬา ควบคู่ไปกับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมที่สำคัญพร้อมให้บริการวิชาการและเป็นแหล่งความรู้ของชุมชนด้านกีฬา โดยฐานรากของการผลิตแบ่งออกเป็นโรงเรียนกีฬา 13 โรง และวิทยาเขตอีก 17 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อคัดสรร กลั่นกรองและผลิตคนกีฬาที่เพียบพร้อมไปด้วยความสามารถและวินัยที่ดีในการยกระดับพลศึกษาและกีฬาไทยให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพตามกรอบวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานที่ว่า “เป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งด้านศาสตร์การกีฬาในภูมิภาคอาเซียน”

การศึกษากับพลศึกษาและกีฬาจะเดินไปอย่างไรนับตั้งแต่การจัดตั้งโรงเรียนกีฬาที่มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมาจนถึงวิทยาเขตที่มีการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา นั่นคือคำถามที่เราไม่เคยหยุดถามตัวเองในทุกวัน โดยคำตอบที่ได้ คือ ความตั้งใจจริงที่จะผลิตบัณฑิตให้ครอบคลุมทุกศาสตร์การกีฬา โดยในมิติของการศึกษานั้น ช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาสถาบันฯได้ทำการศึกษาอย่างเข้มข้นจากกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านพลศึกษาและกีฬาจนเกิดการตกผลึกหลักสูตรการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา 2.คณะพลศึกษา 3.คณะบริหารจัดการกีฬา และ 4.คณะเทคโนโลยีทางการกีฬา

“เล่นเป็นสอนได้” คณะพลศึกษานอกจากเรียนตามหลักสูตรของสถาบันการพลศึกษาที่เป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.)รวมทั้งมาตรฐานของคุรุสภาแล้วเมื่อเรียนจบไปจะต้องเล่นกีฬาได้มีทักษะการสอนที่ดี สามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้ฝึกสอนหรือโค้ชกีฬาประเภทต่างๆ  ซึ่งในขณะนี้วงการกีฬาไทยยังขาดทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางกีฬาค่อนข้างมาก พร้อมกันนี้ยังมุ่งสอนในเชิงลึก เช่น คณะวิทยาศาสตร์การกีฬามีการนำเอาความรู้ใหม่ๆ ในศาสตร์ของกีฬา อาทิ สรีรวิทยาการออกกำลังกายและกีฬา โภชนาการการกีฬา จิตวิทยาการกีฬา เวชศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยีการกีฬา รวมทั้งชีวกลศาสตร์การกีฬา มาผนวกใช้ เป็นต้น ขณะที่คณะบริหารจัดการกีฬาจะทำการเรียนการสอนในเชิงปฏิบัติควบคู่กับทฤษฎีอย่างสมดุลเพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการกีฬาในรูปแบบต่างๆ ได้ในอนาคต

ในมิติของกีฬาทางสถาบันฯจะมีการพัฒนาตั้งแต่ระดับเยาวชนจากโรงเรียนกีฬาทั้ง 13 โรง โดยแต่เดิมอาจพบกับปัญหาการพัฒนาด้านกีฬาที่กว้างและซ้ำซ้อนจนเกินไป ทำให้กีฬาบางชนิดยังเป็นรองชาติอื่นๆในภูมิภาค แต่ก้าวเดินต่อจากนี้เราจะโฟกัสกีฬาแต่ละชนิดอย่างเข้มข้น โดยแบ่งการฝึกสอนกีฬาแต่ละประเภทอย่างชัดเจน เพื่อผลิตนักกีฬาให้ครอบคลุมทุกชนิดกีฬาในระดับสากล ผ่านโครงการ 1 วิทยาเขต 1 ชนิดกีฬา โดยทั้ง 17 วิทยาเขตจะมีชนิดกีฬาที่รับผิดชอบในการพัฒนา 1 ชนิดกีฬา  ไม่เพียงเท่านั้นการมีเพียง 17 ชนิดกีฬาอาจจะดูน้อยไปเราจึงขยายผลให้แต่ละวิทยาเขตพัฒนากีฬาเพิ่มเข้ามาอีกรวมแล้วไม่เกิน 3 ชนิดกีฬา คาดว่าในอนาคตนักกีฬาจากวิทยาเขตต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาในแบบฐานรากลักษณะนี้ จะเป็นผลผลิตที่สำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ

อย่างไรก็ดีนอกจากการผลิตบัณฑิตแล้วทางสถาบันฯยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาบุคลากรทางกีฬาเพื่อเติมเต็มเข้าไปสู่อุตสาหกรรมกีฬาที่มีมูลค่าสูงอย่างมากในตลาดโลกขณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างความร่วมมือกับสมาคมกีฬาต่างๆ อาทิ สมาคมกีฬามวยสากลสมัครเล่น เพื่อจัดทำหลักสูตรการพัฒนาผู้ตัดสินรวมทั้งฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโดยในขณะนี้ผู้ตัดสินไทยในเวทีมวยโลกยังมีจำนวนน้อย โดยมีเพียง 1 ท่านที่สามารถตัดสินได้ในระดับเอเชียและอีก 6 ท่านที่สามารถตัดสินได้ในระดับอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรในชนิดกีฬาอื่นๆ ด้วย เช่น ฟุตบอล การส่งบุคลากรสู่อุตสาหกรรมกีฬานอกจากสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นโอกาสและบทพิสูจน์ให้เห็นว่าพลศึกษาและกีฬาสามารถเป็นอาชีพได้จริง ซึ่งนี่ถือเป็นการบริการทางวิชาการที่สมดุล

ทั้งนี้อีกหนึ่งกระบวนการที่สถาบันฯดำเนินงานควบคู่กันไปคือการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของการอนุรักษ์และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้านและกีฬาไทย เช่น มวยไทย แม้ในขณะนี้มวยไทยจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนมีค่ายมวยกว่าหมื่นค่ายในทั่วโลก แต่กีฬาดังกล่าวยังไม่ได้ถูกบรรจุในการแข่งขันกีฬาสากลระดับโลกอย่างโอลิมปิก ทั้งนี้ทางสถาบันฯพร้อมด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งภาคีเครือข่ายก็ยังเดินหน้าส่งเสริมกีฬาประเภทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

back “กีฬามวยไทย ชิงชนะเลิศมหาวิทยาลัยโลก” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23-29 กรกฎาคม 2561 นี้ที่โรงแรมฮาร์ดร็อค เมืองพัทยา ชลบุรี โดยทัวร์นาเมนต์นี้ถือเป็นการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยที่งดงามให้ทั่วโลกเห็นอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้มีผู้ตอบรับเข้าร่วมแข่งขันกว่า 30 ประเทศ มีความพร้อมในการเตรียมงานแบ่งความรับผิดชอบไปยังวิทยาเขตของสถาบันการพลศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และได้จัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามงาน ซักซ้อมความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เวทีนี้เป็นบันไดจากมวยไทยสู่มวยโลกในอนาคตอันใกล้

โลกของกีฬาในยุคนี้ต่างมุ่งแต่ชนะเพียงอย่างเดียว แต่จุดสูงสุดของกีฬานั้นไม่ได้มีแต่คำว่า ชนะ แต่ยังมีความพ่ายแพ้ที่เราต้องยอมรับและนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น การมีวินัยต่อตัวเองในการฝึกฝน มีความตั้งใจมุ่งมั่น ทุ่มเท มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีจรรยาบรรณต่อเพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งทั้งหมดไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาเท่านั้นที่ต้องมี ประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้ โดยทั้งหมดจะหล่อหลอมให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เกิดผลดีต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติต่อไป

ประโยชน์ของพลศึกษาและกีฬาถือเป็นหนึ่งศาสตร์ของการใช้ชีวิตที่ครอบคลุมในทุกด้านครบถ้วนในทุกลมหายใจของมนุษย์ เป็นรากแก้วที่ดีในการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ยกระดับสังคมให้กลมเกลียว และบริบูรณ์ให้แต่ละชนชาติมีความเป็นหนึ่งเดียว ดังเช่นนิยามคำหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “พลศึกษาและกีฬา พัฒนาคน พัฒนาชาติ” บทสรุปที่ทำให้ทุกคนรู้จักกีฬามากยิ่งขึ้นจาก นายปริวัฒน์ วรรณกลาง

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,385 (849) วันที่ 22 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561