'พณ.' ปลุกนักค้าปักษ์ใต้ ลุย "E-Commerce" เต็มสูบ เชื่อมไทยสู่ประตูการค้าโลก

19 ก.ค. 2561 | 10:53 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สงขลา ในวันนี้ (19 ก.ค. 61) ว่า นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และกล่าวเปิดงานสัมมนา "E-Commerce BIG BANG" ณ โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เพราะผู้ค้าออนไลน์ สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีในจังหวัดภาคใต้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายสกนธ์ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจการค้าปลีกสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซ หรือ ระบบดิจิทัล รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงพยายามส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างช่องทางผ่านการจับมือกับพันธมิตรด้านอี-คอมเมิร์ซ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มของกระทรวงพาณิชขย์ ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


10087

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ คือ การที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนามาตรฐานสินค้า และบริการให้เป็นที่ยอมรับในระบบสากล ต้องมีความน่าเชื่อถือ และมีความปลอดภัย กระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มใน 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.สินค้าและบริการที่จะนำมาจำหน่าย จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานและใส่รายละเอียดที่เป็นจริง หัวใจของการค้าขายออนไลน์ สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อน คือ ความไว้วางใจ (Trust)

"แม้เขาจะไม่เห็นหรือสัมผัสของจริงได้ แต่เขาต้องไว้ใจและเชื่อใจ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ของต้องดีจริง คุณภาพดีจริง ผู้ขายต้องมีจริยธรรมในการค้าขาย" นายสกนธ์ กล่าว

2.ระบบโลจิสติกส์ต้องถูกต้อง ต้องมีการรับประกัน มีระบบติดตามการส่งมอบของ รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย ระบบการขนส่งให้ครอบคลุมไปถึงระดับตำบล ต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและเปิดกว้าง 3.ระบบการชำระเงิน ต้องมีความหลากหลายและความน่าเชื่อถือ โดยทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือในการพัฒนารูปแบบให้เป็นมาตรฐานที่ปลอดภัยและได้รับการยอมรับระดับสากล


10127

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูล ซึ่งต้องมีการเก็บรวมรวมข้อมูล (Big Data) และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ทั้งข้อมูลในส่วนของผู้ซื้อ ผู้ขาย และตลาด ซึ่งจะทำให้เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ภาพรวมของตลาด แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาสินค้าได้ถูกใจตลาดมากที่สุด

"กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการออกเครื่องหมายเพื่อแสดงความมีตัวตนในการประกอบธุรกิจ E-Commerce (DBD Registered) ซึ่งเครื่องหมายรับรองมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่อนุมัติให้กำหนดใช้และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (DBD Verified) ซึ่งออกให้แก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างอิงจากมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยประโยชน์ของเครื่องหมาย DBD Registered มีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ (1) สร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ (2) สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ (3) ได้รับสิทธิการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับกระทรวงพาณิชย์และพันธมิตร" นายสกนธ์ กล่าว


10135

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวในการเสวนา "เปิดประตูธุรกิจพิชิตออนไลน์" ว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทย มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก เป็นช่องทางใหม่ของโลกการค้า โดยมูลค่าอี-คอมเมิร์ซของไทย จากผลการวิจัยมีมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวในอัตราตัวเลข 2 หลัก อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกในประเทศแล้ว ยังถือว่ามีมูลค่าไม่มาก สัดส่วนยังไม่ถึง 5% ของมูลค่าการค้าปลีกในภาพรวม ขณะที่ อี-คอมเมิร์ซในต่างประเทศขยายตัวมากกว่า 20%

สำหรับภารกิจหลักของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการสนับสนุนการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่สำคัญ คือ 1.การพัฒนาคนเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่องรองรับการทำธุรกิจ 2.การสร้างความน่าเชื่อถือโดยการรับจดทะเบียนสำหรับร้านค้าออนไลน์ หรือ DBD Registered เพื่อยืนยันการมีที่อยู่ของผู้ประกอบการ 3.การผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กให้โกอินเตอร์ และ 4.ส่งเสริมและสร้างการตระหนักรู้ และจัดกิจกรรมไทยแลนด์ ออนไลน์ เมกะเซลล์ เป็นต้น


S__8683624

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กล่าวว่า การทำธุรกิจออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ช ต้องอาศัยความอดทนและสู้ พร้อมหาช่องทางใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง โดยหัวใจสำคัญของการทำอี-คอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จ คือ ต้องให้เวลากับการทำธุรกิจ หากมีลูกค้าติดต่อเข้ามา ต้องรีบโต้ตอบให้ข้อมูลกับลูกค้าทันที ซึ่งเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม (www.thaitrade.com) ถือเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงทั้งช่องทางการขาย การสร้างตลาด และการสร้างโอกาส โดยเชื่อมโยงผ่านหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็น สถาบัน NEA หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

"สำหรับการสมัครเข้าใช้บริการของไทยเทรดดอทคอม ซึ่งสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้ฟรี สิ่งสำคัญ คือ ต้องเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ประกอบการทั่วไป แต่รวมถึงเกษตรกร ก็สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ และเมื่อเข้ามาร่วมกับไทยเทรดดอทคอม นอกจากจะได้ข้อมูลและช่องทางการทำตลาดอี-คอมเมิร์ซแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซด้วย

ปัจจุบัน ตลาดกิมหยงเริ่มซบเซาและถูกแย่งตลาด ส่วนหนึ่งของผู้แย่งตลาด คือ อี-คอมเมิร์ซ ทั้ง ๆ ที่สินค้าในตลาดกิมหยงยังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอื่น ๆ หากสามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และสามารถสร้างกิมหยงให้เป็นตลาดสินค้าที่คนทั่วโลกรู้จัก" ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กล่าว


10139

นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถาบันมีหน้าที่หลักในการพัฒนาความรู้และส่งเสริมในการเพาะบ่มผู้ประกอบการเพื่อให้เชื่อมโยงกับตลาดระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยที่สถาบันมีความเชี่ยวชาญในการเจาะตลาด เนื่องจากอยู่ภายใต้ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำให้สถาบันมีความเชี่ยวชาญในการหาตลาด โดยอาศัยทูตพาณิชย์ที่มีสำนักงานกว่า 60 สำนักงานทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายอีก ไม่ว่าจะเป็น ไทยเทรดดอทคอม หรือ อาลีบาบาดอทคอม ทำให้การค้าออนไลน์ไร้พรมแดน

"สถาบันเอ็นอีเอเน้นการเชื่อมโยงกับการค้าโลก ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ประกอบการในยุค 4.0 เนื่องจากจากตลาดในประเทศถือว่าเล็ก และโดนแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจากผู้ประกอบการต่างประเทศจำนวนมาก ในขณะเดียวกันตลาดซีแอลเอ็มวี แม้ว่าจะมีผู้บริโภคกว่า 250 ล้านคน อาจจะยังไม่สามารถตอบสนองสินค้าหรือบริการที่เรามี ดังนั้น ตลาดโลก คือ เป้าหมายของผู้ประกอบการในยุค 4.0 ที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สถาบันเองมีหลักสูตรให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งหลักสูตรแบบออนไลน์และออฟไลน์ ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจการค้าออนไลน์"


10194

นายพิชัย จงไพรัตน์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.สงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สมาพันธ์ฯ ได้ทำการสำรวจภาพรวมเศรษฐกิจ และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการสะท้อนปัญหาว่า ตลาดซบเซา เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดนำส่งภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทำโพลว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจนั้นซบเซาจริงหรือไม่ ก็พบว่า กำลังซื้อหายไป 30-40%

"และสิ่งที่สวนทางกัน คือ ต้นทุนสูงขึ้น ผลกำไรลดลง และการแข่งขันก็สูงขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ส่วนเรื่องการค้าออนไลน์ ถ้ามาดูที่จำนวนประชาการภาคใต้จะอยู่ที่อันดับ 3 รองจากภาคกลาง อันดับ 2 และ กทม. อันดับ 1 และถ้ามาดูการค้าออนไลน์ภาคใต้ก็อยู่อันดับสุดท้าย แต่สงขลามีตัวเลขการใช้งานอินเตอร์สูงสุด ดังนั้น จึงมองว่าภาคใต้หรือที่ จ.สงขลา ยังสามารถพัฒนา 'โกออนไลน์' ได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ จ.สงขลา สามารถมาเป็นสมาชิกกับสมาพันธ์ฯ ได้เลย และคนที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันก็สามารถมาขึ้นทะเบียนได้ เพื่อที่ว่าภาครัฐที่ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ จะได้นำรายชื่อมาคัดกรองเข้ารับการอบรมได้รวดเร็วและตรงเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น"


10191

นายสมเกียรติ ไชยศุรางกุล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของสมาคมจะมุ่งผลักดันให้เกิด 2 ปีข้างหน้า มีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1.สร้างให้เกิดองค์ความรู้อี-คอมเมิร์ซ กับผู้ประกอบการไทย 2.มุ่งสร้างให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม 3.มุ่งผลักดันสินค้าของผู้ประกอบการไทย หรือ เอสเอ็มอีไทย ขายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่ให้ต่างประเทศเข้ามาขายสินค้า

สำหรับคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่ก้าวสู่อี-คอมเมิร์ซ คือ 1.ผู้ประกอบการจะต้องไม่มองอี-คอมเมิร์ซ เป็นธุรกิจ แต่ต้องมองเป็นช่องทาง และใช้กลยุทธ์การบริหารทราฟฟิคในช่องทาง 2.ต้องหาทีมงานอายุน้อย 25-35 ปี เข้ามาทำงาน 3.แพ็กเกจจิ้งต้องมั่นคง อย่าเปลี่ยนแปลงบ่อย

"ทุกวันนี้ ตลาดจตุจักรเป็นของคนไทย แต่บนโลกออนไลน์ ช็อป เจเจ เจ้าของเป็นสิงคโปร์ ซึ่งอยากแนะนำให้สมาพันธ์ เอสเอ็มอี สงขลา จดทะบียนตลาดกิมหยง เอาไว้ เพราะถ้าไม่จด สิงคโปร์ก็จะเอาไปจดอีก ผมจะเสนอในที่ประชุมกรรมการสมาคมร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอี จัดตั้งสาขาของสมาคมฯ ในต่างจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ ประสานงานเอสเอ็มอีหรือหน่วยงานภาครัฐ" อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าว


e-book-1-503x62