ประมูลคลื่น900/1800ส่อวุ่น ดีแทคตั้งแง่ส่วนลด2พันล้าน-กสทช.ย้ำเยียวยาต้องประมูล

22 ก.ค. 2561 | 07:14 น.
    ประมูลคลื่น 900,1800 MHz ส่อแววไปไม่สวย หลัง “ดีแทค” กังวลค่าใช้จ่ายติดตั้งฟิลเตอร์ 2 พันล้านอาจไม่พอ ขณะที่ บอร์ด กสทช. มีมติต้องเข้าประมูลถึงได้สิทธิ์เยียวยา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เผยว่ามติที่ประชุม กสทช. เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พิจารณาเรื่องมาตรการคุ้มครอง ผู้ใช้บริการหลังคลื่นความถี่ย่าน 850 และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 ซึ่ง สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัมปทาน แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว รวมถึงบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคและบริษัทในเครือ

ทั้งนี้ กสทช. จึงได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ดังกล่าว รวมทั้งได้อนุมัติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพิ่มเติม ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังนั้นหากผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือไม่เข้าร่วมการประมูล จะไม่สามารถเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. โดยถือว่าผู้รับสัมปทานไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการลูกค้า

mp20-3385-1 อย่างไรก็ตาม หากผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือเข้าร่วมการประมูล แต่กระบวนการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ดังนั้นไม่ว่าผู้ที่เข้าประมูลจะชนะการประมูลหรือไม่ก็ตาม ผู้รับสัมปทานเดิมจะได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จนกว่า กสทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจุบันดีแทคมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ในระบบประมาณ 4.3 แสนราย โดยสามารถรองรับการโอนย้ายได้สูงสุด 6 หมื่นเลขหมายต่อวัน จึงเร่งรัดให้มีการประชาสัมพันธ์การโอนย้ายเลขหมายก่อนสัญญาสัมปทานจะหมดอายุ และหากต้องการให้มีการเยียวยาทั้งคลื่น 1800 และ 900 MHz ก็จะต้องยื่นประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่ แต่ทั้งนี้หากมีผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่ดีแทคชนะการประมูล คลื่นความถี่ดังกล่าวจะต้องถูกโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการเดิม (ดีแทค) จำนวนอีกกว่าแสนรายที่ไม่ได้มีการโอนย้ายเครือข่ายต้องประสบกับปัญหา ซิมดับ เมื่อสัญญาสัมปทานหมดอายุและผู้ชนะมีการชำระเงินค่าคลื่นแล้ว

ด้านนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและพัฒนาธุรกิจ ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค มีความกังวลข้อกำหนดเงื่อนไขประมูลคลื่น 900 MHz ที่กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว แม้ กสทช. จะลดราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ลงจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อไปพัฒนาระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน แม้ยังไม่ได้วิเคราะห์งบประมาณที่ชัดเจน แต่ดีแทค ประเมินว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าราคาคลื่นที่ลดลง เพราะได้ศึกษาต้นทุนการติดตั้ง ฟิลเตอร์ แล้วว่าสูงกว่า 2,000 ล้านบาท รวมถึงยังไม่ทราบจำนวนสถานีที่ต้องติดตั้ง และระบบรถไฟฟ้าว่าต้องใช้เป็นรูปแบบใด อีกทั้งการเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ในไซต์ของ เอไอเอส และทรูน่าจะเป็นอุปสรรคเช่นเดียวกัน

นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่ดีแทคได้มีการทักท้วงในเรื่องของต้นทุนในการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวนการเดินรถของรถไฟไทย-จีน บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2,000 ล้านบาท ที่มองว่าไม่ครอบคลุมนั้น ทาง กสทช. มองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการประเมินราคาที่สมเหตุสมผล ในการสร้างแนวป้องกันการรบกวนประมาณ 1.3 หมื่นจุด โดยได้มีการกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจัดทำระบบป้องกันตามทีโออาร์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งดีแทคไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ของผู้อื่นได้

e-book-1-503x62

..................................................................................................

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,385 ระหว่างวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2561