เอสเอ็มอีแห่ทำอี-คอมเมิร์ซ คนรุ่นใหม่สงขลาใช้สื่อโซเชียลสื่อสาร-ขายสินค้า

28 ส.ค. 2561 | 04:41 น.
เอสเอ็มอีสงขลาเกาะกระแสอี-คอมเมิร์ซ แห่ใช้ประโยชน์จากสื่อโซเชียล ทั้งไลน์และเฟซบุ๊ก เป็นช่องทาง การสื่อสารและขายสินค้า เผยมีต้นทุนตํ่ากว่าการลงทุนหน้าร้านมาก แถมสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านนายกสมาพันธ์เอสเอ็มอีสงขลา ชี้ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยใช้สื่อโซเชียลในรูปแบบธุรกิจอย่าง LINE@

lo04-84
นายพิชัย จงไพรัตน์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ในจังหวัดสงขลา ยังใช้อี-คอมเมิร์ซ ไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊กและไลน์ ยังไม่ค่อยใช้ LINE@ ซึ่งเป็นรูปแบบสำหรับธุรกิจ ปัญหาเนื่องจาก ยังไม่รู้วิธีการใช้ เอกชนที่นำอี-คอมเมิร์ซ มาใช้และประสบผลสำเร็จ เช่น ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า ทราบว่า ช่วยกระตุ้นยอดขายสูงขึ้น จากที่จำหน่ายเฉพาะที่ห้าง

“สำหรับเอสเอ็มอีสงขลา ผมเห็นว่า ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน จึงไม่มีความโดดเด่น น่าจะทำแพ็กเกจให้ดึงดูดมากขึ้น ภาครัฐก็พยายามสนับสนุน ส่วนใหญ่เป็นการอบรม ก็จัดบ่อย แต่ยังไม่มีการประเมินผล ก่อนและหลังว่า เอสเอ็มอี ได้นำอี-คอมเมิร์ซไปใช้หรือไม่”

นางณัฐอร เลาหวิริยะกมล เจ้าของบ้านหม่อมเบเกอรี่ ผู้ผลิตขนมปังบ้านหม่อม กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ของอี-คอมเมิร์ซว่า ได้ใช้ เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก แล้วส่งสินค้าทางไปรษณีย์ สามารถที่จะมีลูกค้าเกือบทั่วประเทศ ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้านการตลาด นวัตกรรมในการผลิตสินค้าตามมาตรฐานข้อกำหนดของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ภาครัฐมาจัดอบรมให้หลายครั้ง รวมทั้งมีการให้เงินกู้ แต่ยังไม่กล้ากู้ เพราะเกรงจะส่งไม่ได้

lo03-84

“อี-คอมเมิร์ซเป็นเหมือนเครื่องมือในการซื้อ-ขายสินค้า รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้บริโภค ทำให้มีความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งสามารถให้ข้อมูลของสินค้า ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการขายสินค้าที่ใช้หน้าร้านที่ตั้งตามแหล่งธุรกิจต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนที่สูง และมีความเสี่ยงสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจ”

นางณัฐอร กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบันล้วนมุ่งเน้นการใช้อี-คอมเมิร์ซในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลข่าว สารมากมายในระบบอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่มีความท้าทายและปัญหาของเรา ก็คือ จะทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ประกอบการตั้งใจจะสื่อออกไปตรงตามกลุ่มผู้บริโภคที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ รวมถึงจะทำอย่างไรให้รูปแบบการนำเสนอข้อมูลให้มีความน่าสนใจเพียงพอที่จะดึงดูดความสนใจของลูกค้า ซึ่งบางครั้ง จำเป็นต้องใช้ทักษะที่หลากหลายแขนงในการประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างรูปแบบการนำเสนอที่มีความน่าสนใจ และคุ้มกับเงินลงทุน อีกปัญหา คือ การทำแพ็กเกจ ให้ดึงดูดความสนใจ ผู้บริโภค ให้มีความแตกต่าง และเก็บถนอมอาหาร และยืดอายุอาหารได้นานขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องการความรู้ในด้านนี้

lo02

ด้านนายโมกข์ พานทอง และนางภัททีรา พานทอง เจ้าของ “ส้มตำแซบจังหู้ว”  จังหวัดสงขลา กล่าวว่า “เนื่องจากภรรยา (นางภัททีรา พานทอง) เป็นชาวอุบลราชธานี มีฝีมือในการทำ ส้มตำ ส่วนผมเองมีความรู้ในด้านออนไลน์ จึงคิดธุรกิจรับพรีออร์เดอร์ส้มตำ ชุดละ 30 บาท ถ้าใส่ปู ชุดละ 40 บาท ส่งฟรีถึงโต๊ะทำงาน ใช้สื่อเฟซบุ๊กและไลน์ ให้ลูกค้าสั่งล่วงหน้า สื่ออี-คอมเมิร์ซ ช่วยให้เราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนเปิดร้าน ไม่มีทุนเช่าที่ สามารถที่จะทำธุรกิจได้ ตอนนี้ลูกค้ายังไม่มากนัก มีออร์เดอร์ ประมาณ 20 -30 ชุด คาดว่าจะขยายฐานลูกค้าจากคนทำงาน ไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น นักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และกลุ่มพยาบาลในโรงพยาบาล ที่ไม่มีเวลาออกมาหาซื้ออาหารเพิ่มขึ้น ปัญหาของเราก็คือ การบริหารจัดการไม่เก่ง เพราะยังไม่มีประสบการณ์

lo01

ส่วนนายจารุพิชญ์ หนูคง เจ้าของ พีช สะเดาฟาร์ม สบายใจฟาร์ม ที่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา (Peach SadaoSabaijai Farm) เปิดเผยว่า ใช้เพจเฟซบุ๊ก ส่งเสริมการขาย แล้วนำสินค้าไปขายที่ตลาดประชารัฐสะเดา จังหวัดสงขลา ตนเองจบเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกำลังศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ ภาคสมทบ ได้ทำงานที่ธนาคารกรุงเทพมาก่อน และตัดสินใจลาออก มาทำธุรกิจเอง โดยลงทุนซื้อที่ 8 ไร่ ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา ในราคา 1.8 ล้านบาท โดยเป็นเงินของพ่อ แม่ซึ่งเป็นแม่บ้านมาก่อน ก็มาช่วยเป็นผู้แพ็กสินค้า โดยได้ปลูกกล้วยหลายชนิด ทั้งกล้วยหอม กล้วยนํ้าว้า ปลูกผักสารพัดหลายชนิด

“การมีเพจพีช สบายใจ สะเดาฟาร์ม ช่วยให้ฟาร์มของผมเป็นที่รู้จัก ในอนาคต คิดว่าจำเป็นต้องจ้างมืออาชีพมาช่วยพัฒนาเพจในเฟซบุ๊กให้น่าสนใจมากขึ้น”

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19-21 กรกฎาคม 2561