จี้ 'ศิริ' เปิดทาง! ชิง "ปิโตรฯบก"

19 ก.ค. 2561 | 07:09 น.
190761-1350

เอกชนตบเท้า! จี้กระทรวงพลังงานเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ชี้ความจำเป็นไม่สำรวจและผลิตเพิ่ม ก๊าซหมดในอีก 8 ปี ต้องพึ่ง 'แอลเอ็นจี' นำเข้าในราคาที่สูง พร้อมแนะรัฐเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติ เป็นแหล่งป้อนพลังงานระยะยาว

การผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศนับวันเริ่มจะลดน้อยลง สวนทางกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ทุกวันนี้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ราว 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีราคาสูงกว่าในประเทศ ประกอบกับแหล่งบงกชและเอราวัณจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565-2566 และอยู่ระหว่างการประมูลนั้น ทางกระทรวงพลังงานยืนยันว่า จะผลิตก๊าซได้ในระดับ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น ลดลงจากปัจจุบันผลิตที่ 2.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


gas

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมออกมาเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเร่งเปิดแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เพราะนอกจากช่วยลดการนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วย

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้ว (P1) มีปริมาณ 6.83 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (P2) 4.79 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือ รวมกันจะใช้ได้อีก 7-8 ปี

 

[caption id="attachment_299096" align="aligncenter" width="503"] ©www.pttep.com ©www.pttep.com[/caption]

ดังนั้น นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะต้องเร่งเปิดให้มีการสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้การผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศมีความต่อเนื่อง และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อมาทดแทนก๊าซจากแหล่งบงกชและเอราวัณที่หายไปส่วนหนึ่ง อีกทั้งเป็นการช่วยลดการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ทั้งจากเมียนมา และนำเข้าในรูปก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งปัจจุบัน นำเข้าก๊าซโดยรวมอยู่ที่ 28% ส่วนอีก 72% เป็นการผลิตในประเทศ จากความต้องการใช้ราว 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ หากนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน เพราะปัจจุบัน ราคาแอลเอ็นจีจากตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 6-7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู แต่คาดว่า ในระยะ 1-5 ปีข้างหน้า ราคาแอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 8-9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และมีโอกาสขึ้นไปมากกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น


TP09-3315-1A

นายมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ มองว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะที่ผ่านมามีการศึกษาและเตรียมการไว้อยู่แล้ว 8-9 แหล่ง ในพื้นที่บนบก ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่แถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถขุดพบน้ำมันดิบและก๊าซได้ แต่ต้นทุนการขุดเจาะสูง คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหลุม เทียบกับปกติอยู่ที่ 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหลุม

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานควรจะเร่งทำความชัดเจน หรือ เร่งหารือกับรัฐบาลกัมพูชา ของแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ สามารถนำมาทดแทนกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย และการนำเข้าจากเมียนมาที่เริ่มลดลงในอีก 10-20 ปีข้างหน้าได้

 

[caption id="attachment_299098" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

นายนาวิน พรรณธรรม ผู้จัดการฝ่ายบริหารและมวลชนสัมพันธ์ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานควรเร่งเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งมีความจำเป็นเพื่อรักษาระดับกำลังการผลิตในประเทศ เนื่องจากแหล่งที่มีอยู่กำลังผลิตอยู่ในช่วงทรงกับทรุด หรือ กำลังการผลิตเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จำเป็นต้องมีแหล่งใหม่ ๆ เข้ามาเสริม

ทั้งนี้ หากไม่มีการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตอยู่รอดได้ยาก และต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ผลิตในขณะนี้เหลือน้อย มีพื้นที่สำรวจและผลิตจำกัด อัตราปริมาณการผลิตต่อปีเป็นช่วงขาลง ดังนั้น หากไม่มีการเปิดแหล่งใหม่เพิ่ม บริษัทก็คงรอวันปิดตัว เนื่องจากไม่มีกำลังการผลิตทดแทน ส่งผลกระทบต่อรายได้ลดลง ซึ่งหากภาครัฐมีแนวทางเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ บริษัทมีความสนใจและพร้อมร่วมประมูล


TP09-3342-1A

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังจากการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชเรียบร้อบแล้ว คาดว่าในช่วงต้นปี 2562 น่าจะสามารถเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ ซึ่งจะพิจารณาแหล่งบนบกที่มีศักยภาพเป็นหลัก 8-9 แปลง เนื่องจากยังมีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียม

ขณะที่ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) นั้น พื้นที่รวม 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ล่าสุด ทางกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งกรมมองว่า พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังเป็นความหวังที่จะสามารถพัฒนาร่วมกันได้ในอนาคต แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน เนื่องจากความเห็นต่างเรื่องเส้นแบ่งพื้นที่


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19-21 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ศิริ"ดันกลุ่มStartupมีบทบาทในแผนพลังงาน
ผุดโซลาร์ลอยนํ้า สนองนโยบาย ‘ศิริ’


e-book-1-503x62