ก.พลังงานจับมือ IEA วางแผนทิศทางไฟฟ้าของไทย

18 ก.ค. 2561 | 11:57 น.
- 18 ก.ค. 61 - นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ได้ให้ การต้อนรับ ดร.ฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (Dr.Fatih Birol Executive Director of International Energy Agency : IEA) ซึ่งได้ให้เกียรติเยือนกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ พร้อมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ สถานการณ์ทิศทางพลังงานโลก ตลาดน้ำมัน เทคโนโลยีด้านพลังงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นพลังงานโลกที่สำคัญๆ โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน รวมทั้งผู้บริหารตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ ภายหลังการบรรยายพิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน ได้ทำการหารือร่วมกับ ดร.ฟาร์ตี ไบโรล์ ผู้อำนวยการ IEA ดังกล่าว โดยมีประเด็นและกรอบการหารือด้านพลังงานที่สำคัญๆ ประกอบด้วย แนวโน้มและทิศทางของตลาดน้ำมัน ทิศทางของตลาดพลังงานในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาพลังงานทดแทน ทิศทางของการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) และรูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น iea_logo_090216

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ใช้โอกาสในการมาเยือนของผู้อำนวยการ IEA ครั้งนี้ หารือประเด็นสำคัญ เช่น  ทิศทางความร่วมมือระหว่างไทย และทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือให้ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ร่วมพัฒนาและศึกษานโยบาย องค์ความรู้ ข้อมูล และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในสาขาต่างๆ เข้ามาให้คำปรึกษากับไทย โดยเฉพาะในด้านการวางแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานระยะยาวของไทย การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) และการวางแผนด้านการจัดทำสำรองน้ำมัน เป็นต้น โดยองค์ความรู้จาก IEA กระทรวงพลังงานจะได้นำไปปรับใช้ในกระบวนการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ แก่ประเทศในระยะยาว

นายศิริ กล่าวว่า สำหรับกรณีบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ หรือ MHPS ได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เพื่อแลกกับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทยนั้น เบื้องต้นตามข่าว ขอชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด แต่เป็นการขนส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นขั้นตอนการขนส่งชิ้นส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งดูสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อเดือน ส.ค.2556 ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นโรงไฟฟ้าใด ซึ่งจะดูทั้งในส่วนของ กฟผ. และบริษัทลูก คาดว่า 1-2 วันจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน