เล็งเชื่อมโยงย่านพหลโยธิน เร่งหารือการทางพิเศษ-ทางหลวงจับถนนชนทางด่วนแก้ปัญหาจราจร

09 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
สนข.เร่งหารือ กทพ.-ทล. เชื่อมทางด่วนศรีรัชฯด้านตะวันตกกับดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อเปิดเส้นทางอำนวยความสะดวกด้านจราจร ด้านบิ๊ก กทพ.เผยเตรียมชง ครม.ต่อขยายเส้นทางถึงวังมะนาว ทั้งเล็งปรับแนว N3 เชื่อมวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก

[caption id="attachment_30113" align="aligncenter" width="368"] ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)[/caption]

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวคิดการเชื่อมโยงโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกกับโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ ว่า จะดำเนินการในช่วงถนนกำแพงเพชร 2 ผ่านด้านหน้าสถานีบริการผู้โดยสารบริษัท นครชัยแอร์จำกัด ระยะทางประมาณ 1.5 กม. เพื่ออำนวยการจราจรจากพื้นที่ย่านพหลโยธิน ให้สามารถเดินทางเข้าสู่เส้นทางดอนเมืองโทลล์เวย์และทางด่วนศรีรัชฯได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการแก้ไขปัญหาจราจรให้พร้อมรองรับการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อและย่านพหลโยธินไว้ตั้งแต่วันนี้

“สนข.ต้องศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการเชื่อมโยง เนื่องจากทั้ง 2 เส้นทางมีบริษัทผู้รับสัมปทานที่แตกต่างกันและยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งสนข.จะเป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแนวทางที่เหมาะสมก่อนเร่งศึกษาออกแบบเสนอผู้บริหารกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป”

ทั้งนี้ กรมทางหลวง (ทล.) เป็นเจ้าของโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ และมีบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ได้รับสัมปทานโครงการ ขณะที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก และมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(BEM) เป็นผู้รับสัมปทาน

ด้านพล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กล่าวว่า มีแนวคิดเชื่อมโยงทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกเข้ากับทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ที่กรมทางหลวง(ทล.)เป็นเจ้าของโครงการ ตลอดจนการขอต่อขยายทางด่วนเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก วงเงินกว่า 2.7-3 หมื่นล้านบาทที่เตรียมจะนำเสนอครม.อนุมัติในปี 2560 ให้สามารถขยายแนวเส้นทางออกไปยังพื้นที่แยกวังมะนาว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ถนนเพชรเกษมของทล.ได้อีกด้วย

“สำหรับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกนั้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ แต่ยังมีความกังวลว่าจะเป็นการป้อนรถเข้าสู่ใจกลางเมืองมากยิ่งขึ้นเมื่อเปิดให้บริการ จึงเจรจากับหน่วยที่เกี่ยวข้องในการแบ่งรถไปทางสายเหนือบ้าง นอกจากนั้นรถที่วิ่งมาทางสายเหนือที่จะไปยังฝั่งธนบุรีเดิมจะต้องไปลงด่านยมราชและพระราม 2 แต่หากสามารถเพิ่มแลมป์เชื่อมโยงกับด่วนศรีรัชฯเพื่อไปยังโซนตะวันตกได้จะได้รับความสะดวกมากกว่า เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกับทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าเส้นทางสู่สายเหนือจะใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท อีกทั้ง BEM ยังเรียกร้องขอสร้างด่านเพื่อจัดเก็บเงินเพิ่มซึ่งภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ต้องได้ข้อสรุปชัดเจน”

ประธานบอร์ดกทพ.กล่าวอีกว่าปัจจุบันมีรายได้จากทางด่วนทั้งระบบจำนวนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะทางด่วนในส่วนที่กทพ.รับผิดชอบมีรายได้ประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการรับส่วนแบ่งจากกลุ่มบริษัท BEM ดังนั้นแนวทางการลงทุนโครงการใหม่จึงอยากให้เป็นไปในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจะได้ไม่เกิดภาระหนี้สาธารณะต่อรัฐบาล อีกทั้งยังมีสิทธิ์เป็นเจ้าของโครงการเต็ม 100% มากกว่าที่จะเป็นเพียงการสัมปทานเท่านั้น

ล่าสุดได้เสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ ช่วงกะทู้-ป่าตอง ที่จังหวัดภูเก็ต เข้าสู่โครงการร่วมลงทุนพีพีพีฟาสแทร็คของรัฐบาลด้วย แต่ประเด็นหลักแล้วยังเน้นการเชื่อมโยงในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการกทพ. ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีทางด่วนสายเหนือ N1-N2-N3 ว่าช่วง N1 สนข.อยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบาในแนวเส้นทางนี้ด้วย ส่วนกรณี N2 กำลังพิจารณาว่าจะนำตอม่อที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เนื่องจากลงทุนไปร่วม 1 พันล้านบาท เช่นเดียวกับช่วง N3 ปัจจุบันพื้นที่โซนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว หากจะก่อสร้างต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น

“ช่วง N3 อาจจะใช้วิธีปรับแนวเส้นทางที่สามารถเชื่อมเข้ากับวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกได้ เพื่อลดผลกระทบ และน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า โดยจะเร่งหารือกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559