เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | "เลือกตั้งกัมพูชา" กับภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

18 ก.ค. 2561 | 07:03 น.
29 กรกฎาคม 2561 จะเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของประเทศกัมพูชา เพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทยมากที่สุดประเทศหนึ่งในประชาคมอาเซียน แน่นอนว่า ภูมิทัศน์ทางการเมือง (Political Landscape) ในอาเซียนมีการพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี Joko Widodo ในปี 2014 ที่นำพาการเมืองอินโดนีเซียไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส บทบาทของกองทัพ ตลอดจนการเปลี่ยนวิธีคิดจากเน้นพัฒนาเศรษฐกิจบนเกาะต่าง ๆ กลายเป็นการเน้นพัฒนา Blue Economy หรือ พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องทะเลแทน

หรือการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ในปี 2016 ที่ได้ฉันทามติอย่างท่วมท้นจากประชาชนฟิลิปปินส์ให้เข้ามาบริหารจัดการปัญหายาเสพติด ปัญหามาเฟีย ปัญหาอาชญากรรมในชุมชน โดยใช้มาตรการเด็ดขาดและไม่ต้องแคร์สายตาชาวโลก

ในห้วงเวลาเดียวกัน เมียนมาก็มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบ 60 ปี Daw Aung San Suu Kyi ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐและมีบทบาทโดดเด่นยิ่งกว่าประธานาธิบดี แต่ก็พร้อมทำให้ประเทศเมียนมาเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมโลกได้อย่างโดดเด่น

และล่าสุด 2018 มาเลเซียก็เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมรัฐบาลจาก UMNO ที่ดูแลประเทศมาตั้งแต่ปี 1963 เป็นพรรคร่วมพันธมิตรแห่งความหวัง Pakatan Harapan ภายใต้การนำของ Dr.Mahathir bin Mahamad ผู้นำที่ประกาศจะเข้ามาปฏิรูปการเมืองมาเลเซียให้โปร่งใสมากขึ้น

หรือแม้แต่ในประเทศไทย การเข้าสู่การเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เกิดขึ้นหลังจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงและความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005 อันนํามาสู่ความ พยายามของรัฐบาลไทยในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งก็กําลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่า คําถามที่หลาย ๆ คนคิดอยู่ในใจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองของประชาคมอาเซียน ก็คือ แล้วการเลือกตั้งปลายเดือน ก.ค. นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองเกิดขึ้นในกัมพูชาหรือไม่


ภาพหน้า 7 ฮุนเซน

คลื่นใต้น้ําในหมู่นักเรียนนักศึกษากัมพูชา ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เห็นการปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 2000 ที่เราเห็นบทบาทของ Sam Rainsy ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ และกระแสนี้ก็น่าจะถึงจุดสูงสุดภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วในปี 2013 เมื่อผลการเลือกตั้งในครั้งแรกออกมาว่า พรรค Cambodia People's Party (CPP) ภายใต้การนําของ สมเด็จฮุน เซ็น ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน 48.83% ในขณะที่ พรรค Cambodia National Rescue Party (CNRP) ภายใต้การนําของนายสม รังสี ที่ได้รับเสียงสนับสนุนถึง 44.46% (CNRP เกิดจากการผสมทัพระหว่าง พรรคเดิมของเขา คือ Sam Rainsy Party และพรรค Human Rights Party ของ Kem Sokha เข้าด้วยกัน)

เมื่อคะแนนเสียงของ 2 พรรคหลัก ตามติดกันชนิดหายใจรดต้นคอเช่นนี้ ร่วมกับการพบเห็นความไม่ชอบมาพากลจํานวนมากในการเลือกตั้งในปี 2013 อาทิ เนื่องจากกัมพูชาไม่ได้จัดทําสัมมะโนประชากรมานาน ทําให้คนที่เสียชีวิตไปแล้วหลายคนยังไม่ได้ ถูกคัดชื่อออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีอีกหลายคนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้มากกว่า 1 เขตเลือกตั้ง ในขณะที่ สีที่ใช้จุ่มนิ้วเพื่อเป็นหลักฐานว่า มาใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ซ้ําได้อีก ก็มีการพิสูจน์ได้ว่า สามารถล้างออกได้ด้วยน้ํามะนาวผสม น้ํายาทําความสะอาด

หรือแม้แต่การพบบัตรเลือกตั้งผีที่ใส่เข้ามาในกล่องมากกว่าจํานวนผู้มาใช้สิทธิ์ รวมทั้งการไม่ให้ผู้นําคนสําคัญ ๆ ของพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ CPP มีสิทธิ์ในการสมัครลงเลือกตั้ง โดยเฉพาะ สม รังสี เอง ก็ถูกจํากัดสิทธิ์ ไม่ให้ลงแข่งขันในการเลือกตั้งด้วย เหล่านี้นําไปสู่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของพรรค CNRP การไม่เข้า ร่วมเปิดประชุมรัฐสภาของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และนําไปสู่การประท้วงที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 11 เดือน 3 สัปดาห์ 3 วัน (28/7/2013-22/7/2014)

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกัมพูชาในครั้งนั้น ถือเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของกัมพูชา ฝ่ายแกนนําผู้ชุมนุมประมาณการกันว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึงกว่า 500,000 คน และตัวเลขประมาณการนี้ลดลงเหลือประมาณ 100,000 คน โดยฝ่ายรัฐบาล โดยผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง การต่อต้านการขยายอิทธิพลและกรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม การต่อต้านการตัดไม้เถื่อน การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมทั้งการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในปี 2013 การชุมนุมครั้งนี้น่าจะถือเป็นประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งสําคัญที่สุดของประชาชนกัมพูชา หากแต่โมเมนตัมในการเคลื่อนไหวก็ยังไม่รุนแรงเพียงพอจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชาได้

เพราะเมื่อชุมนุมกันมาจะครบ 1 ปี ส.ส.พรรค CNRP กับรัฐบาลจากพรรค CPP ก็สามารถเจรจาตกลงกันได้ และยอมให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา พร้อมกับข้อสัญญาจากรัฐบาลที่ว่าจะให้มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้น การต่อรองเพื่อให้ ส.ส. จาก CNRP ได้ดํารงตําแหน่งรองประธานรัฐสภาคนที่ 1 การให้สิทธิ์ ส.ส. จากฝ่ายค้านดํารงตําแหน่ง กรรมาธิการปราบปรามคอร์รัปชัน 5 จาก 10 ตําแหน่ง รวมทั้งให้สถานะ ส.ส. กับนายสม รังสี ซึ่งถูกห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้งอีกด้วย การปรองดองดูเหมือนจะเกิดขึ้น การปฏิรูปดูเหมือนจะเดินหน้า ... แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

เพราะหลังจากนี้ นายสม รังสี ก็จะถูกตามเช็กบิลผ่านการดําเนินคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เขากล่าวหาเรื่องการแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชาโดยเวียดนาม จนในที่สุด นายสม รังสี ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค CNRP โดยมอบตําแหน่งให้กับรองหัวหน้าพรรค Kem Sokha ซึ่งในที่สุดก็ถูกกดดันจนประกาศยุบพรรค CNRP และทําให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน แตกกระสานซ่านเซ็น บ้างก็ย้ายไปอยู่พรรค CPP บ้างก็ไปซบอกพรรค FUNCINPEC ของ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ บ้างก็ไปสังกัดพรรคเดิม คือ พรรค Human Right แต่ก็ทําให้ฝ่ายค้านอ่อนกําลังลงมาก


ภาพบทความหน้า 7 ฉบับ 3383 (1)

ในขณะที่ การปฏิรูปการเมืองก็ไม่เกิดขึ้น การเลือกตั้งก่อนกําหนด ที่เคยสัญญากันไว้ก็ถูกเลื่อนจาก ก.พ. 2018 เป็นวันที่ 29 ก.ค. 2018 สื่อต่าง ๆ ที่พยายามจะเปิดเผย เส้นทางการเงินและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ตลอดจนการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของผู้ใหญ่ในรัฐบาล ก็ถูกกําจัดออกไป บางรายถึงกับเสียชีวิต (แม้ว่าเหตุผลทางการเมืองอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลการทำข่าว) และที่สําคัญที่สุด ก็คือ โมเมนตัมของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จากคลื่นใต้น้ํา จนรวมกําลังและเกิดการชุมนุมต่อเนื่องได้ถึง 11 เดือน 3 สัปดาห์ กับอีก 3 วัน ได้จางหายไป กลับกลายเป็นคลื่นใต้น้ําที่แผ่วลงกว่าเดิม

พร้อม ๆ กับที่ จอมพล สมเด็จ อัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซ็น ประกาศตนในวัย 66 ปี ว่า เขาจะยังคงทํางานการเมืองต่อไป และจะขอเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาต่อไปอีก 2 สมัย ก่อนที่จะวางมือทางการเมืองในวัย 76 ปี และโดยหากนับจากวันที่เขาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ ในปี 1993 ฮุน เซ็น ก็จะกลายเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ดํารงตําแหน่งยาวนานที่สุดในโลก และได้วางตัว ฮุน มาเนตร (Hun Manet) ลูกชายคนโต ไว้เป็นทายาททางการเมืองเรียบร้อยแล้ว

สําหรับคุณผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลล่าสุดเรื่องภูมิทัศน์ทางการเมืองของอาเซียน สามารถติดตามได้จากการเสวนา Changing Economic, Political and Social Landscape in ASEAN วันที่ 1 ส.ค. 2018 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 801 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกิจกรรม นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์จุฬาฯ-อาเซียน ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ก.ค. ถึง 3 ส.ค. 2561


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19-21 ก.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | Influencer Marketing กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
● เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย "การจัดงานวิ่ง" (ตอน 1)


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว