“กัลฟ์” ยืนยันไม่เกี่ยวข้อง “มิตซูบิชิฯ” จ่ายสินบนเเลกงาน

18 ก.ค. 2561 | 06:35 น.
image3-สมัครงาน-บริษัท-กัลฟ์-เอ็นเนอร์จี-ดีเวลลอปเมนท์-จำกัด-485 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการบริหารองค์กร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์วันนี้ ว่า ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท Mitsubishi Hitachi Power Systems(MHPS) จ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อแลกกับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2556 นั้น

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ขอชี้แจงว่า โรงไฟฟ้าในกลุ่มของบริษัทฯทั้งหมดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวใดๆ

ทั้งนี้จากการที่บริษัทตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการไปยัง MHPS ได้ยืนยันกลับมาว่ากรณีที่เป็นข่าวไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทฯกัลฟ์ ทั้งบริษัทย่อยและบริษัทในเครือแต่อย่างใด

กัลฟ์ ระบุว่า MHPS มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยและต่างประเทศหลายโครงการ อย่างไรก็ตามไม่มีโครงการโรงไฟฟ้าใดๆของกลุ่มบริษัทได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างออกแบบและวิศกรรมจัดหา และก่อสร้าง(EPC)กับ MHPS ในปี 2556 ดังที่ปรากฎในข่าว ทั้งนี้บริษัทได้รับแจ้งจาก MHPS ว่า MHPS จะออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการต่อไป

[caption id="attachment_298917" align="aligncenter" width="190"] ยุพาพิน วังวิวัฒน์ ยุพาพิน วังวิวัฒน์[/caption]

ทั้งนี้สำนักข่าวหลายแห่งของญี่ปุ่นรายงานว่า สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียวกำลังสืบสวน บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเทมส์ (MHPS )ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ไทย เพื่อแลกกับการชนะประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในประเทศไทย

รายงานข่าวระบุว่า การต่อรองกับการรับสารภาพ โดยMHPSจะให้ข้อมูลแก่พนักงานสืบสวน เพื่อแลกกับการที่ MHPS จะไม่ถูกดำเนินคดีหรือลดโทษ โดยเจ้าหน้าที่MHPS ให้สินบนเจ้าหน้าที่ทางการไทย ผ่านนายหน้าคนหนึ่ง มูลค่ากว่า 60 ล้านเยน ( 20 ล้านบาท) โดยการสืบสวนภายในของบริษัท ยืนยันเจ้าหน้าที่ MHPS ประพฤติผิดจริง และได้ให้ข้อมูลต่อพนักงานสืบสวน แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลสื่อมวลชน

ตามกฎหมายญี่ปุ่น กรณีนี้มีโทษปรับสูงสุด 300 ล้านเยน ( 90 ล้านบาท) สำหรับบริษัท และพนักงานที่กระทำผิดมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 5 ล้านเยน

รายงานข่าวระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การสืบสวนเส้นทางทางการเงินในคดีสินบนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการของต่างชาตินั้นยากมาก เพราะมักกระทำผ่านนายหน้าหลายราย แต่ระบบการต่อรองการรับสารภาพ ทำให้การสืบสวนง่ายขึ้น โดยบริษัทที่ถูกลงโทษ จะถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่ให้ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินนานาชาติ ทำให้บริษัทหลายแห่งต่อรองที่ยอมให้ข้อมูลพนักงานสืบสวน เพื่อแลกกับการไม่ถูกลงโทษที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ ปี 2541 ที่ญี่ปุ่นห้ามการให้และรับสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในต่างประเทศ มี 4 กรณีเท่านั้น ที่บริษัทหรือพนักงานของญี่ปุ่น ถูกกล่าวหาว่าให้สินบนข้าราชการต่างชาติ แต่กรณีเป็นกรณีแรกที่มีการต่อรองการรับสารภาพ
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว