สนามโมบายแอพฯระอุแบงก์แห่อัดงบจัดแคมเปญกระทุ้งยอด

23 ก.ค. 2561 | 12:12 น.
ไทยพาณิชย์ เตรียมโหมแคมเปญครึ่งปีหลัง กระตุ้น ยอดสแกนคิวอาร์โค้ด หลังดันแม่มณีแตะ 1 ล้านร้านค้า เผยธุรกรรม Easy App พุ่ง 300% หลังยกเว้นค่าธรรมเนียม ฟาก “ออมสิน” ไม่น้อยหน้า ดึงลูกค้า New Gen โต 33% คาดยอดโมบายแบงกิ้งแตะ 4 ล้านราย ส่วน “กสิกรไทย” ตั้งเป้าสิ้นปี ธุรกรรมผ่าน K PLUS มากกว่า 1 ล้านรายการ

[caption id="attachment_298880" align="aligncenter" width="253"] ธนา1 ธนา เธียรอัจฉริยะ[/caption]

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลยุทธ์ตลาดออนไลน์ช่วงครึ่งหลังปีนี้ ธนาคารจะเน้นทำแคมเปญกับลูกค้ารายย่อยมากขึ้น จากครึ่งปีแรกได้เน้นทำตลาดกับร้านค้าผ่านแม่มณี โดยมีร้านค้ามากกว่า 1 ล้านร้านค้า และภายในสิ้นปี น่าจะเพิ่มเป็น 1.1-1.2 ล้านร้านค้า ช่วงที่เหลือจะเน้นกระตุ้นการทำธุรกรรมผ่านการสแกนชำระเงินมากขึ้น ถือเป็นแคมเปญกระตุ้นให้ใช้แทนขยายร้านค้า โดยแคมเปญจะเป็นการชิงโชคให้กับลูกค้าที่สแกนชำระเงินน่าจะเห็นในเดือนสิงหาคม- กันยายนนี้

ขณะเดียวกัน หลังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมช่องทางออนไลน์หรือโมบายแบงกิ้งพบว่า  ยอดการทำธุรกรรมการเงิน (Transaction banking) เติบโตสูงถึง 300% โดยผ่าน SCB Easy App มีสัดส่วนสูงถึง 90% จากเดิมอยู่ที่ 70-80% ขณะที่ธุรกรรมผ่านช่องทางเอทีเอ็มอยู่ที่ 6% และช่องทางสาขาอยู่ที่ 4% ลดลงจากเดิมที่เคยอยู่ราว 10% สะท้อนว่า ลูกค้าให้ความสนใจและหันมาทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ธุรกรรมที่ทำบน SCB Easy App ส่วนใหญ่เป็นการเช็กยอด โอนเงิน กดเงินไม่ใช้บัตร และถอนเงิน ซึ่งเป็นธุรกรรมที่เคยทำในสาขา แต่ถูกยกมาอยู่บนมือถือ ดังนั้นสาขาที่มีอยู่อาจไม่จำเป็นให้บริการธุรกรรมเหล่านี้ ทำให้พนักงานสามารถมีเวลาไปหาลูกค้าหรือให้คำปรึกษาลูกค้าในเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น  ทำให้รูปแบบของสาขาที่มีและอยู่ในจุดที่เป็น Stand Alone ถูกปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น เช่น รูปแบบ Express หรือเป็นศูนย์ธุรกิจ (Business Center) แทน ขณะที่ Easy App จะเน้นบริการธนาคารรูปแบบเดิมไปอยู่บนมือถือแทน

MP24-3384-A

ดังนั้น จากแนวโน้มการเติบโตของ SCB Easy App จึงคาดว่า ภายในสิ้นปีจะมีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 9 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 8 ล้านราย ซึ่งปัจจุบัน ณ เดือนมิถุนายน มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 7 ล้านราย ซึ่งมียอดการทำธุรกรรมสมํ่าเสมอ (Active) ประมาณ 70-75% จากเดิมแอคทีฟอยู่ที่ 60% ถือว่าเพิ่มขึ้นในระดับที่พอสมควร เนื่องจากลูกค้ามีความคุ้นเคยในการใช้มากขึ้น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินกล่าวว่า แนวโน้มการทำธุรกรรมผ่านสาขามีทิศทางทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากธุรกรรมผ่านดิจิตอลมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ธนาคารมีลูกค้าใหม่เข้ามาเฉลี่ย 1 ล้านราย ทำให้มีฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งผ่าน Mymo อยู่ที่ 3 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2 ล้านราย และคาดว่า ภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ 4 ล้านราย มียอดใช้สมํ่าเสมอ(Active) อยู่ที่ 70% ส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมโอนเงิน ซื้อสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ดและซื้อสลากออมสิน จากฐานลูกค้าธนาคารทั้งหมด 21 ล้านรายคิดเป็น 30 ล้านบัญชี

อย่างไรก็ตามช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ทำการตลาดกับลูกค้า New Gen ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7-20 ปี โดยออกผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น ช่องทางดิจิตอล บัตรเครดิต บัตรเดบิต ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ไม่มีผลิตภัณฑ์รองรับในกลุ่มนี้ ส่งผลให้อัตราการเติบโตในกลุ่ม New Gen ค่อนข้างสูงถึง 33% เทียบกับการเติบโตภาพรวมของลูกค้าทุกกลุ่มที่ขยายตัวอยู่ที่ 20-22%

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ด้านนายพัชร  สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเตรียมงบประมาณการตลาดและแคมเปญกระตุ้นการใช้ QR Code 50-60 ล้านบาทต่อปี สูงกว่าอดีตที่เคยใช้งบเพียง 20-30 ล้านบาทเท่านั้น ส่งผลให้ธุรกรรมผ่าน QR Code มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากจำนวนธุรกรรม ณ เดือนมิถุนายน มีจำนวนสูงถึง 8 แสนรายการต่อเดือน เพิ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่มีธุรกรรมเพียง 1.2 แสนรายการต่อเดือน และคาดว่า หลังขยายความร่วมมือร้านค้าและแคมเปญต่างๆ จะส่งผลให้ธุรกรรมเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 1 ล้านรายการต่อเดือนภายในสิ้นปี

ปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในตลาด QR Code อยู่ที่ 2-3% เช่น การใช้จ่าย 100 บาท ลูกค้าจะใช้ QR Code ของธนาคาร 2-3% และใช้บัตรเครดิต 20% ที่เหลือจะใช้เงินสด ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ใช้ QR Code เพิ่มเป็น 10% ในอนาคต โดยมีฐานลูกค้า K PLUS ปัจจุบันที่ 8.4 ล้านราย ภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 10 ล้านราย และจำนวนร้านค้าที่ใช้ K PLUS SHOP อยู่ที่ 1.4 ล้านร้านค้า คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินด้วย QR Code รวมกว่า 4,000 ล้านบาท

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว